ส่งออกจ่อหดเป้าหลัง Q2 4 สินค้าใหญ่ทิศทางขาลง

08 พ.ค. 2562 | 02:30 น.

เอกชนลุ้นผ่านไตรมาส 2 หากส่งออกยังไม่โงหัว เตรียมปรับลดเป้าหมายรายสินค้าลงยกกระบิ “ข้าว มัน รถยนต์ อัญมณี” ปัจจัยเสี่ยงรุม ทั้งสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกทรุด บาทแข็ง ค่าแรงจ่อพุ่ง เร่งปรับตัวหาตลาดใหม่ ดันธุรกิจมีศักยภาพเสริมรายได้
 

จากมูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีการส่งออก 61,988 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีปัจจัยหลักจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง เงินบาทที่ยังแข็ง ค่า (แม้จะอ่อนค่าลงบ้างในช่วงนี้)กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ไทยไม่มีสิทธิประโยชน์ทางการค้าใหม่ๆ ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งขัน ส่งผลให้หลายสำนักพยากรณ์ต่างออกมาคาดการณ์ ตัวเลขการส่งออกทั้งปีใหม่ ส่วนใหญ่คาดจะขยายตัวได้ระหว่าง 2-3% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เตรียม ประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อประเมินสถานการณ์ และทบทวนเป้าหมายการส่งออกใหม่ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ คาดจะปรับเป้าลด ลงจาก 8% ขณะที่จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบหลาย กลุ่มสินค้าเตรียมปรับคาดการณ์ส่งออกลงในทิศทางที่สอดคล้องกัน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้(1 ม.ค.-36 เม.ย.)ไทยมีการส่งออกข้าวแล้ว 3.05 ล้านตัน ขยายตัวลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 1,587 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9.6% ซึ่งการส่งออกข้าวที่ลดลงนี้ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เวียดนาม อินเดียคู่แข่งสำคัญก็ส่งออกได้ลดลงเช่นกัน มีปัจจัยสำคัญจากจีนได้นำข้าวเก่าในสต๊อก(มีข้าวเปลือกในสต๊อกกว่า 100 ล้านตัน) มาสีแปรเพื่อจำหน่ายแข่งในตลาดในราคาตํ่า สามารถแย่งตลาดข้าวไทยในแอฟริกาไปได้จำนวนมาก

อีกด้านหนึ่งผลจากราคาข้าว เมื่อเทียบราคาข้าวชนิดเดียวกันของไทย เวียดนามและอินเดีย ข้าวไทยมีราคาสูงกว่า ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน เช่นข้าวขาว 5% ของไทยราคา 385-390 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวเวียดนาม 360 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถูกกว่าไทย 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวหอมมะลิไทย 1,080 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ข้าวหอมเวียดนาม 480 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ถูกกว่าไทยกว่าครึ่งหนึ่ง

“ปัจจัยข้างต้น รวมถึงเงินบาทที่ยังแข็งค่าที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะอ่อน ค่าลงเมื่อเทียบกับต้นปี แต่ก็ยังทำให้เราแข่งขันยาก ซึ่งเดิมทางสมาคมตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้ที่ 9.5 ล้านตัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 10 ล้านตัน หลังผ่านครึ่งแรกของปีนี้เราจะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้ง”

นายศราวุฒิ วนิชจักร์วงศ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจมันสำปะหลังและธุรกิจไม้สับ เครือเอสทีซี กล่าวว่า คาดปีนี้ไทยจะส่งออกมันเส้นได้ลดลงเหลือประมาณ 3 ล้านตัน จากปี 2560 และ 2561 ส่งออกได้ 6.7 ล้านตัน และ 4 ล้านตันตามลำดับ ผลจากจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าหลักได้ลดการสั่งซื้อ โดยหันไปใช้ข้าวโพดที่มีอยู่ในสต๊อกจำนวนมากเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์แทนมันเส้นเพิ่มขึ้น คาดสถานการณ์จะยังเป็นไปเช่นนี้ต่อไปอีก 1-2 ปี ทางกลุ่มจึงหันมามุ่งเน้นการทำตลาดส่งออกไม้สับไปจีนและญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้จากธุรกิจมันสำปะหลังที่หายไป
 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณส่งออกรถ PPV(รถอเนกประสงค์)ซึ่งเป็นรถที่มีราคาสูงลดลง ส่วนหนึ่งผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้บรรยากาศการค้าโลกชะลอตัวลง ซึ่งทุกฝ่ายจับตามองการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่สุดแล้วจะเป็นไปในทิศทางใด

“ผ่านไตรมาสแรกแล้ว ทางกลุ่มยังคงเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ทั้งปีนี้ไว้ที่ 1.1 ล้านคัน คงต้องติดตามกรณีที่สหรัฐฯอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขึ้นภาษีสินค้ารถยนต์จากยุโรป จะกระทบเราด้านลบ-ด้านบวกอย่างไร ซึ่งจะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกรถยนต์อีกครั้งหลังผ่านไตรมาส 2 ไปแล้ว”

ขณะที่นายบุญกิต จิตรงามปลั่ง นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับสินค้าส่งออกอันดับ 3 ของไทย กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.2% (มีมูลค่า 3,167 ล้านดอลลาร์) จากสงครามการค้าทำบรรยากาศการค้าโลกชะลอตัว ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 2 โดยปกติจะเป็นช่วงโลว์ซีซันของการส่งออกอัญมณี และดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และไฮซีซันในไตรมาสที่ 4 ซึ่งคงต้องติดตามสถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกหากปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงสงครามการค้าหากคลี่คลายดีขึ้นก็จะช่วยให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงใหม่คือการเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าจะกระทบต้นทุน จากเป้าหมายส่ง ออกอัญมณีฯในปีนี้ขยายตัว 5% จะ พิจารณาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ในส่วนของผู้ประกอบการคงต้องหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,467 วันที่ 5 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ส่งออกจ่อหดเป้าหลัง Q2 4 สินค้าใหญ่ทิศทางขาลง