ไทยออยล์คาดสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในกรอบราคาที่สูง

07 พ.ค. 2562 | 09:32 น.

ราคาน้ำมันดิบคาดแกว่งตัวระดับสูง หลังโอเปกไม่เร่งเพิ่มกำลังการผลิตแทนอิหร่าน แม้ถูกกดดันจากสหรัฐฯ

 

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 59 - 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68 - 73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 - 10 พ.. 62) 

 

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในกรอบราคาที่สูง หลังกลุ่มผู้ผลิตโอเปกไม่เร่งที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ และมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตไปถึงปลายปี 2019 ประกอบกับกำลังการผลิตจากเวเนซุเอลาและลิเบียคาดปรับตัวลดลง จากผลกระทบของปัญหาความไม่สงบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับ รัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันดิบสู่ยุโรปได้ หลังปัญหาน้ำมันปนเปื้อนในท่อขนส่งคลี่คลาย 

 

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

 

ปริมาณน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจาก ผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียมีแนวโน้มที่จะขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไป ซึ่งเดิมจะสิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. 62 เนื่องจากเชื่อว่าตลาดน้ำมันดิบในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับราคา 70 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นภาวะที่ตลาดสมดุลแล้ว โดยปริมาณน้ำมันดิบที่ลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เข้มงวดขึ้น จะถูกชดเชยโดยปริมาณน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย

 

กำลังการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาคาดปรับตัวลดลง จากแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประกอบกับปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ หลังกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันตามการปลุกระดมของผู้นำฝ่ายค้าน นาย Juan Guaido เรียกร้องให้ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Moduro ออกจากตำแหน่ง ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบนี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจน้ำมันของเวเนซุเอลาได้ 

 

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 100,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำลังการผลิตของสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 เม.ย. 62 ปรับตัวสูงขึ้น 9.9 ล้านบาร์เรล แตะที่ระดับ 470.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะยังคงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงที่ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวันก็ตาม  

 

ปริมาณน้ำมันดิบจากรัสเซียคาดปรับเพิ่มขึ้น หลังรัสเซียสามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบปนเปื้อนในท่อขนส่งได้ ล่าสุด รัสเซียสามารถส่งออกน้ำมันดิบที่มีคุณภาพตามมาตรฐานไปยังยุโรปได้แล้ว หลังโปแลนด์และเยอรมนีสั่งห้ามการซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียผ่านท่อขนส่งน้ำมัน Druzhab ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพบสารปนเปื้อนในน้ำมันดิบซึ่งถูกส่งมาจากท่อดังกล่าว 

 

ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย หลังกลุ่มผู้ติดอาวุธโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El-Sharara ซึ่งเป็นแหล่งส่งออกน้ำมันดิบหลักของลิเบีย แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกำลังการผลิตแต่อย่างใด แต่หากสถานกาณ์ความไม่สงบในลิเบียยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับตัวลดลงได้ 

 

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ยอดการส่งออกจีน ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน 

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 เม.. – 3 .. 62)

 

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสุงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ถึง 1.5 ล้านบาร์เรล ประกอบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมากดดันให้กลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่หายไปจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจาก การเพิกเฉยของซาอุดิอาระเบียในการเร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านที่จะปรับตัวลดลง หลังสหรัฐฯ ประกาศหยุดมาตรการผ่อนผันการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังได้ออกมาบอกถึงความเป็นไปได้ในการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตโอเปกจนถึงปลายปี 2562 

ที่มา : บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2562