ลาดพร้าว สุดเปรี้ยง ที่พุ่ง 4 เท่า

09 พ.ค. 2562 | 00:00 น.

ขาใหญ่ยึดลาดพร้าว แนวสายสีเหลือง ขึ้นคอนโดฯ ALL เจาะ ซอย 62 พฤกษา ลุย ซอย 112-ตลาดแฮปปี้แลนด์ ดันที่ดินพุ่ง 4 เท่า จากวาละแสนเป็น 4 แสน ขณะผังกทม.ใหม่ปรับใช้ที่ดินแบบก้าวกระโดดจากแนวราบขึ้นตึกสูงไม่จำกัด

ปัจจุบันถนนลาดพร้าวกลายเป็นทำเลที่มีดีเวลอปเปอร์ ให้ความสนใจขึ้นคอนโดมิเนียมมากที่สุดอีกแห่ง จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ตอกยํ้าศักยภาพการอยู่อาศัย การเดินทางเชื่อมใจกลางเมืองได้สะดวกหลายเส้นทาง หรือแม้จะออกนอกเมืองไปยังพื้นที่ใกล้เคียง

สำหรับความเปลี่ยนแปลง นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ จำกัด วิเคราะห์ว่าถนนลาดพร้าวราคาที่ดินขยับสูงจาก 1 แสนบาทต่อตารางวาเป็น 3-4 แสนบาทต่อตารางวา ทำเลโชคชัย 4 ยาวไปถึงแยกบางกะปิบริเวณเดอะมอลล์ รวมถึงแยกลำสาลี ราคาไม่ตํ่ากว่า 4 แสนบาทต่อตารางวาเช่นกันแนวโน้ม คาดว่าราคาจะขยับสูงได้อีกจากผังเมืองรวมกรุงเทพ มหานครฉบับใหม่เพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาตึกสูงไม่จำกัดขนาดพื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร จากเดิมพัฒนาบ้านแนวราบเป็นส่วนใหญ่

ล่าสุดบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)(ALL) ซื้อที่ดินทำเลลาดพร้าวซอย 62 ขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมจากการให้สัมภาษณ์ของนายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระบุว่า ลาดพร้าวเป็นชุมชนหนาแน่นเต็มไปด้วยตึกแถวแต่ปัจจุบันเมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเชื่อมต่อจากเส้นทางสายสีนํ้าเงินใต้ดิน MRT บริเวณแยกลาดพร้าวตัดกับรัชดาฯ ส่งผลให้ตลอดเส้นทางคึกคักไปด้วยการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม อีกทั้งยังเดินทางออกสุทธิสารซึ่งเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่มีต่างชาติอยู่ในพื้นที่ โดยคนกลุ่มนี้รู้จักลาดพร้าวเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่า ต่างชาติ จะขยับออกมาอยู่อาศัยในโซนนี้กันมาก

ลาดพร้าว สุดเปรี้ยง  ที่พุ่ง 4 เท่า

สำหรับ ALL มีแผนเปิดโครงการคอนโดมิเนียมริมถนนลาดพร้าวซอย 62 ประมาณปลายไตรมาส 2 หรือปลายไตรมาส 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างสำนักงานขายที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า 700 เมตร ระดับราคาจับต้องได้ อย่างไรก็ตาม คอนโดมิเนียม ลาดพร้าว 62 เป็น 1 ใน 6 โครงการ ที่มีแผนเปิดตัว โดยมีมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท

“ลาดพร้าวควรมีรถไฟฟ้ามานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่ แยกบ้านม้า ตลาดบางกะปิ วิ่งไปตามถนนลาดพร้าว เพราะชุมชนหนาแน่นมีคนเข้าพื้นที่ค่อนข้างมาก และมีปัญหาจราจรติดขัดสูง”

ขณะทำเลลาดพร้าวซอย 112 ค่ายพฤกษา เตรียมเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม 300 หน่วยราคาตารางเมตรละ 9 หมื่นบาทหรือ 2 ล้านบาทต้นๆ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตทแวลู บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า พฤกษา พัฒนาโครงการทำเลลาดพร้าวหลายโครงการ ทั้งก่อนมีรถไฟฟ้ากระทั่งรถไฟฟ้าก่อสร้าง สำหรับทำเล แฮปปี้แลนด์ หลังจากซื้อตลาดสด ล่าสุดอยู่ระหว่างปรับที่ดินคาดว่าจะเปิดตัวโครงการได้ราวปลายปีนี้

ส่วนก่อนหน้านี้ ค่ายแมกโนเลีย เปิดขายโครงการ คอนโดมิเนียมพร้อมอยู่ วิสซ์ดอมคลับ ทำเลหัวมุมแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว ติดสวนลุมไนท์บาซาร์ ราคาเริ่ม 4.2 ล้านบาทต่อหน่วย และคาดว่าจะมีอีก 1 โครงการบนทำเลลาดพร้าว 

สายสีเหลืองคืบ30%ผังเมืองเร่งใช้

ก้าวหน้าไปกว่า 30% สำหรับ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วง ลาดพร้าว-สำโรงระยะทาง 30.4 กิโลเมตร 25 สถานี คาดว่าจะเปิดใช้เส้นทางปี 2564 ขณะการพัฒนาโครงการของเอกชน วิ่งแซงหน้าไปไกล นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) มองว่าลาดพร้าวปริมาณจราจรแออัด จึงจำเป็นต้องเสริมด้วยระบบราง อนาคตหากเปิดใช้เส้นทางคาดว่าจะมีคนใช้บริการวันละแสนราย แต่ผลดีนอกจากเดินทางสะดวกแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนมูลค่าที่ดินและพัฒนาได้มากขึ้น ทำให้อนาคต ลาดพร้าวจะเต็มไปด้วยผู้คน และซัพพลายคอนโดฯ หากเทียบกับ ถนนศรีนครินทร์ แล้วถือว่ามีศักยภาพสูงกว่า แต่ราคา ไม่แพง การแข่งขันน้อย มีที่ดินแปลงใหญ่ให้เลือก

ลาดพร้าว สุดเปรี้ยง  ที่พุ่ง 4 เท่า

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา

ขณะวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 กรุงเทพมหานคร จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งใหญ่ ร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีข้อเสนอแนะ, พื้นที่ไหนเกิดเหลื่อมลํ้า จะ นำข้อมูลที่ได้กลับไปปรับปรุง คาดว่าจะบังคับใช้ต้นปี 2563

เช่นเดียวกับนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สะท้อนว่า เนื่องจาก รถไฟฟ้ากระจายไปในทุกพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทุกทำเล จึงยกร่างผังเมือง กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา หากบังคับใช้ ท้องถิ่นสามารถนำกรอบที่ได้ไปปรับปรุงผังเมืองรวมแต่ละจังหวัดใกล้เคียง ต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกัน สีผังเมืองจะไม่แตกต่างกันเพื่อลดเหลื่อมลํ้า

อธิบดีกล่าวต่อว่า กรมต้องการให้พื้นที่แนวรอยต่อและศูนย์เศรษฐกิจต่างๆ เติบโตต่อไปได้ แต่ละมุมเมืองจะเกิดการพัฒนาชุมชนเพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯได้ในอนาคต ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้บริการอย่างสะดวกสบายมากขึ้น ไม่แออัดอยู่เฉพาะในตัวเมืองเท่านั้น

“ผังเมืองจะช่วยกำหนดโหนดต่างๆ ซึ่งจะพิจารณาโหนดที่เกิดขึ้นให้เติบโตตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เพื่อขยายตัวรองรับการเติบโตของกรุงเทพฯได้นั่นเอง ประการสำคัญเรื่องผังเมืองมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กรมจะมองภาพของประเทศและส่วนรวม จึงอาจจะไม่ถูกใจของบางคนแต่ถูกใจคนส่วนใหญ่ ผังเมืองปรับเปลี่ยนได้ให้สอดคล้องกับการเติบโตของพื้นที่นั้นๆ ได้เช่นกัน”  

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3468 ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคม 2562

ลาดพร้าว สุดเปรี้ยง  ที่พุ่ง 4 เท่า