พระราชพิธีบรมราชาภิเษก โบราณราชประเพณี งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

06 พ.ค. 2562 | 10:30 น.

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนได้หันกลับมาเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะอันงดงาม เพื่อศึกษาสิ่งที่เป็นอารยธรรมได้อย่างเข้าใจถึงรากเหง้า และเมื่อซาบซึ้งแล้วเราทุกคนจะรู้จักหน้าที่ของตนในการพึงปฏิบัติ” หนึ่งมุมคิดจาก “ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร” คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีนัยที่สอดรับกับความเห็นของ “ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง” คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมุมมองสถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ว่า

“เราจะเห็นความวิจิตรของสถาปัตยกรรมไทย ความฉลาดในการสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราว การใช้สถาปัตยกรรมภายใน อาทิ หมู่พระราชมณเฑียร ทั้งรูปทรงและวัสดุล้วนมีความหมายในแง่ของคติสมมติเทพ ตลอดจนการออกมหาสมาคมก็ต้องใช้สถาปัตยกรรมเหล่านี้เป็นฉากในการปรากฏพระองค์ออกสู่สายตาของราษฎร และสุดท้ายคือการเลียบพระนคร ส่วนนี้ก้าวข้ามของสถาปัตยกรรมไปสู่รูปแบบของผังเมือง โดยทั้งหมดคือการใช้สถาปัตยกรรมในการออกแบบ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ซึ่งเป็นหลักและแก่นที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย อันสืบเนื่องมาอย่างช้านาน”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

โดยทั้ง ๒ ท่านเป็นส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ผ่านการบรรยายพิเศษชุด “ความรู้เนื่องในโอกาส
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ณ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในศาสตร์สาขาต่างๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากจุฬาฯ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ประชาชนชาวไทยจะร่วมกันเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ซึ่งในแต่ละขั้นตอนล้วนมีความหมายลึกซึ้ง มีความสง่างามและควรค่าแก่การเรียนรู้ ศึกษา เพื่อตระหนักถึงคุณค่า ความงดงามและประวัติศาสตร์ของชาติไทย

 

สถาปัตยกรรม อันเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึง สถาปัตยกรรมอันเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้อย่างน่าสนใจว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเรื่องที่อยู่ในวัฒนธรรม จารีต ประเพณีของไทยมาอย่างช้านาน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่สาระสำคัญยังคงอยู่ ซึ่งทั้งหมดยึดโยงอยู่ในรูปแบบการปกครองของกษัตริย์ โดยคติความเชื่อเรื่องสมมติเทพ หรือการยกเอาประมุขของแผ่นดินเป็นดั่งเทวราชา ซึ่งเชื่อมโยงอยู่ในแผ่นดินสุวรรณภูมินี้มาอย่างยาวนาน โดยทั้งหมดนี้มีการทำรูปจำลองออกมาตามคติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่ว่า จักรวาลแบ่งออกเป็นชั้นๆ เช่น สวรรค์ โลกมนุษย์และนรก ซึ่งมีพระจักรพรรดิราชเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุที่อยู่แกนกลาง โดยถ่ายทอดออกมาผ่านงานสถาปัตยกรรม เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ ซึ่งประดับประดาด้วยต้นไม้ทองต้นไม้เงินและสัตว์ในป่าหิมพานต์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

ผศ.ดร.พีรศรี เผยต่ออีกว่า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีการแสดงออกถึงสถาปัตยกรรมอันงดงามซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิพยภาวะของพระมหากษัตริย์ โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้ประชาชนทุกคนจะได้เห็นความงดงามและวิจิตรศิลป์ของสถาปัตยกรรมไทยแต่โบราณ ครั้งเริ่มก่อตั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ อาทิ หมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง และอื่นๆที่น่าสนใจ ดังนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการสร้างสถาปัตยกรรมชั่วคราวอย่างพระมณฑปกระยาสนานซึ่งใช้สีขาวและสีทองมีความหมายพิเศษในแง่ของการชำระพระวรกาย โดยมณฑปพระกระยาสนานเป็นสถานที่สรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สร้างขึ้นที่ชานกลางแจ้งระหว่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งมีลักษณะเป็นมณฑปหุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ ผูกพระวิสูตรที่มุมเสาทั้ง ๔ เพดานมณฑปดาดผ้าขาว มีสหัสธาราสำหรับไขนํ้าพระมุรธาภิเษกจากบนเพดานให้โปรยลงยังที่สรง ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรหุ้มผ้าขาวบนถาดทองรองนํ้าสรง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

ซึ่งในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าพนักงานจะตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีเครื่องพระมุรธาภิเษก และวางใบไม้กาลกิณีสำหรับทรงเหยียบ ใกล้กับมณฑปพระกระยาสนานมีบุษบกน้อยสำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะทางทิศตะวันออกและประดิษฐานพระมหาพิฆเนศทางทิศตะวันตก ที่มุมฐานมณฑปทั้ง ๔ มุม ตั้งศาลจตุโลกบาลสำหรับบูชาพระฤกษ์

ถัดจากสถาปัตยกรรมภายนอกคือสถาปัตยกรรมภายในอย่าง หมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังหรือกลุ่มพระที่นั่งหลังคาทรงจั่วสร้างเชื่อมพระที่นั่งประธาน ๓ หลังประกอบด้วย พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยสร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ เพื่อใช้เป็นที่ประทับและออกว่าราชการ โดยตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา ได้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ละพระที่นั่งนอกจากตั้งชื่อให้คล้องจ้องอย่างงดงาม ยังมีความหมายที่สื่อถึงนัยต่างๆ เช่น

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมายถึง ที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิราชเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หมายถึง ผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้อยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย โดยหากเทียบดูจากคติความเชื่อเกี่ยวกับไตรภูมิโลกสัณฐาน จะพบว่าทิศใต้เป็นทิศที่สำคัญ เนื่องจากทิศใต้ของเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของชมพูทวีป ซึ่งมีความสำคัญที่สุดเพราะเป็นทวีปสถานที่เกิดของพระพุทธเจ้าและพระจักรพรรดิราช ดังนั้นพระที่นั่งแห่งนี้จึงสำคัญต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย คือ ที่ออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์เพื่อให้ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

อย่างไรก็ดีภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมีจิตรกรรมฝาผนังเหนือช่องพระบัญชรและช่องพระทวารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องพระอินทร์และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อประการหนึ่งที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบประดุจดังองค์อมรินทร์ ผนังระหว่างช่องพระบัญชรเขียนภาพเทพเจ้าที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระแม่โพสพ พระพลเทพ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนคติความเชื่อเรื่องสมมติเทพและความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร

ภายในพระที่นั่งยังประดิษฐานสิ่งสำคัญหลายประการ โดยตอนกลางของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระวิมานพระสยามเทวาธิราชด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตรหรือฉัตรขาว ๗ ชั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์ประทับ เพื่อทรงรับนํ้าอภิเษกจากพระมหาราชครูและมุขอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งแปดทิศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทรงรับการถวายพระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินจากทั่วทั้งแปดทิศ

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

ส่วนด้านตะวันตกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นที่ประทับอันเป็นมงคลของพระมหากษัตริย์ มีพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหรือฉัตรสีขาว ๙ ชั้นกางกั้นเหนือพระที่นั่ง พระที่นั่งภัทรบิฐเป็นพระราชบัลลังก์ที่พระมหากษัตริย์ประทับ เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายพระสุพรรณบัฏ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ พระแสงอัษฎาวุธ และเครื่องบรมราชูปโภคในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันเป็นเครื่องแสดงว่าทรงรับเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสยามโดยสมบูรณ์

 

มนต์และมนตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

ด้านผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงมนต์และมนตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้อย่างน่าสนใจว่า อดีตประเทศไทยก่อนได้รับอิทธิพลจากอินเดีย มีการนับถือผีสาง เทวดา สะท้อนผ่านความเชื่อต่างๆ เช่น การให้คนร้ายเดินบนถ่านไฟร้อน ซึ่งหากไม่ถูกไฟลวกแปลว่าผู้นั้นบริสุทธิ์ มีเทวดาปกปักษ์รักษา จนกระทั่งต่อมาได้รับอิทธิพลในพระพุทธศาสนา

มนต์ ใช้กับคำทางพระพุทธศาสนา หมายถึง คำสาธยายพระพุทธวจนะ สำหรับ มนตร์ ใช้ในทางพราหมณ์ หมายถึง คำเสกเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ จะเริ่มต้นจากการจุดเทียนชัย โดยการจุดเทียนชัยในครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่จะมีข้าราชบริพารจุดเทียนและนำถวายฯแก่พระมหากษัตริย์ แต่ในพระราชพิธี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะอภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ จะทรงจุดเทียนชัยด้วยพระองค์เอง

สำหรับบทสวดที่จะใช้ในพระราชพิธี มีใจความสำคัญในการอัญเชิญเหล่าเทวดาและเทพทั้งหลายเข้าร่วมพิธี รวมทั้งปัดเป่าภยันตราย ซึ่งใจความสำคัญของบทสวดกล่าวถึงความเมตตา 

อาทิ บทกรณียเมตตสูตรขณะที่อีกหนึ่งหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ตามความเชื่อโบราณ คือ เป็นผู้ปกปักษ์รักษาแผ่นดินให้อุดมสมบูรณ์ ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ดังนั้น ในบทสวดหลายๆ บทต่อมาจึงมีการพูดถึงการทำให้ประชาชนมีอาหารกิน อยู่ดีมีสุข ด้านบทสวดที่สำคัญในการพระราชพิธีในครั้งนี้มีทั้ง อนุสสรณปาฐะ โพชฌงคปริตรและสุขาภิยาจนคาถา รวมถึงการสวดภาณวารและสวดชัยมงคลคาถา

 

ดนตรีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องดนตรีในพระราชพิธีสื่อถึงพระราชอิสริยยศ” เสียงดนตรีก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญในพระราชพิธีต่างๆ ผศ.ดร.ภัทระ คมขำ อาจารย์ จากจุฬาฯ ระบุว่า ในอดีตพิธีต่างๆ ของพราหมณ์และฮินดูจะสมบูรณ์มิได้หากขาดดนตรีเข้ามาประกอบ และประเทศไทยก็ได้นำเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามา

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  โบราณราชประเพณี  งดงามสืบสานแก่นแท้วัฒนธรรมไทย

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พยุหยาตราทางสถลมารค เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร คือดนตรีในริ้วขบวน ที่มีความสำคัญและความหมายที่ยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ โดยหนึ่งในเครื่องดนตรีที่สำคัญ คือ กลองมโหระทึก โดยมีการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งในราชสำนักมีทั้งหมด ๔ ตัว และถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้คงไว้ซึ่งเสียงเดิม โดยความหมายของกลองนั้นสื่อถึงเสียงของ ฝน, ฟ้าร้อง และนํ้าตก ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อ กลองมโหระทึกนี้ถูกตีแล้วจะทำให้ประเทศเกิดความอุดมสมบูรณ์ และจะใช้ในพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเท่านั้น

ทั้งนี้นอกจากกลองมโหระทึกยังมีเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น แตรฝรั่ง สื่อความหมายถึงเสียงร้องของช้างเจ้าป่า แตรงอน สื่อถึงความเด็ดเดี่ยวและอุดมสมบูรณ์ของป่า และสังข์ หมายถึง เสียงของสวรรค์ และฆ้องชัย มีความหมายว่า โชคดีมีชัย

อย่างไรก็ดี นอกจากการบรรยายพิเศษแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการเรื่อง “จุฬาฯ ประณตทศมหาราช” ที่หอประชุมจุฬาฯ และจะนำไปจัดแสดงที่ศาลาพระเกี้ยว ระหว่างวันที่ ๓๐ เมษายน - ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. โดยเป็นเนื้อหาในนิทรรศการเป็นการนำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์สำคัญของชาติและประชาชนชาวไทยที่จะแสดงออกถึงความจงรักภักดี รวมถึงได้เห็นความงดงาม วิจิตรศิลป์ของศิลปะ สถาปัตยกรรม ดนตรีที่ร้อยเรียงออกมาอย่างมีแบบแผนตามหลักราชประเพณีที่ถูกต้องควรค่าแก่การเรียนรู้และสืบสานต่อไปอย่างภาคภูมิใจ