จัดทัพรับ‘ซีพี100ปี’ ‘เจ้าสัวธนินท์’ดันทายาทรุ่น 3 ผงาดโลก

02 พ.ค. 2562 | 00:30 น.


 เจ้าสัวธนินท์ถอยระลอก 2 ขยับทายาทรุ่น 3 ขึ้นยืนแถวหน้า ตั้ง “สุภกิต” นั่งกรรมการซีพีเอฟ ควบประธานกลุ่มซีพี เคลื่อนธุรกิจเรือธง “เกษตร-อาหาร” เตรียมรับวาระ 1 ศตวรรษการก่อตั้ง หลังโยก “ศุภชัย” นั่งซีอีโอ
 การลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบมจ.เจริญโภค ภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ และประธานกรรมการบมจ.ทรู คอร์ปอ เรชั่นของนายธนินท์ เจียรวนนท์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกก้าวของการขยับถอยออกเพื่อเปิดทางให้ทายาทรุ่น 3 ขยับก้าวเข้าแบกรับภารกิจนำทัพธุรกิจซีพีโลดแล่นต่อในเวทีโลก ในวาระที่ซีพีจะครบ 100 ปีการก่อตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า
 
ก้าวที่ 2 การผลัดใบใหม่
 แม้เจ้าสัวธนินท์โดยระบุเหตุผลการลาออกว่า มีภารกิจมากขึ้น ทำให้ไม่มีเวลาปฏิบัติงานให้กับบริษัทได้อย่างเต็มที่ แต่วงการธุรกิจเชื่อว่า เหตุผลที่แท้จริงของการลาออกครั้งนี้ เป็นผลจากกลุ่มซีพีกำลังเตรียมพร้อมในการเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบินที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 2.24 แสนล้านบาทกับรัฐบาลที่กำลังจะปิดดีล
 เมื่อต้นปี 2560นายธนินท์เตรียมผลัดใบระลอกแรก โดยลาออกตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มซีพี แล้วแต่งตั้งสุภกิต บุตรชายคนโตเป็นประธานแทน มี“ณรงค์ เจียรวนนท์”บุตรชายอีกคนเป็นรองประธาน และแต่งตั้งนายศุภชัย เจียรวนนท์ บุตรชายคนที่ 3 ที่ได้ฝึกปรือการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ในกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมมาก่อน ขึ้นมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยนายธนินท์ขยับถอยไปนั่งเป็นประธานอาวุโส คอยกำกับอยู่ห่างๆ

ตั้ง“สุภกิต”นั่งก.ก.CPF
 หลังการขยับถอยระลอก 2ครั้งนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นซีพีเอฟในวันรุ่งขึ้น มีมติอนุมัติแต่งตั้งนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโตของเจ้าสัวธนินท์ เป็น 1 ใน 5 กรรมการซีพีเอฟใหม่ ควบตำแหน่งประธานซีพีกรุ๊ป จึงถูกจับตาว่าเป็นทายาทสายตรงที่จะขึ้นกุมบังเหียนอาณาจักรซีพีแทนเจ้าสัวธนินท์ จากเดิมที่สุภกิตได้รับมอบหมายให้ดูแลบุกเบิกการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีน ที่เป็นอีกฐานธุรกิจสำคัญของซีพี การเข้ามาเป็นกรรมการซีพีเอฟ ธุรกิจหลักที่เป็นเรือธงเครือซีพี ของนายสุภกิตน่าติดตามว่าจะกำหนดทิศทางเป้าหมายของซีพีเอฟยักษ์ใหญ่วงการเกษตรอุตสาห กรรมและอาหารของไทยและของโลก สืบต่อจากเจ้าสัวธนินท์ที่ยังคอยกำกับดูแลอยู่ห่างๆ
 ในปี 2561 ซีพีเอฟมีรายได้จากการขาย 541,937 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 15,531 ล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจอาหารสัตว์(Feed) ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์(Farm) และธุรกิจอาหาร(Food) สัดส่วน 42%, 41% และ 17% ตามลำดับ โดยซีพีเอฟมีการลงทุนและขยายกิจการครอบคลุม 17 ประเทศ และส่งออกไปกว่า 30 ประเทศ ใน 5 ทวีปทั่วโลก
 ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีกรุ๊ปมีจุดเริ่มต้นในปี 2464 โดย 2 พี่น้องคือนายเจี่ย เอ็กชอ (บิดาของธนินท์ เจียรวนนท์) และนายเจี่ย เชี่ยวฮุย(นายชนม์เจริญ เจียรวนนท์)ได้อพยพมาจากเมืองจีน และได้เปิดร้านเจียไต้จึง จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักขึ้นที่ย่านทรงวาด ก่อนขยายธุรกิจในรุ่นลูก และรุ่นหลานมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือซีพีได้แตกแขนงออกเป็น 8 สายธุรกิจหลัก (13 กลุ่มธุรกิจย่อย) และจะมีอายุครบ 1 ศตวรรษ หรือ 100 ปีในปี 2564 นี้ ซึ่งวงในระบุอยู่ระหว่างเตรียมแผนงานกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้า อีกทั้งเป็นการเปิดทางทายาทรุ่นใหม่ขึ้นแบกรับภารกิจอาณาจักรซีพีในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ กับแผนการลงทุนใหญ่หลายโครงการในมือ จัดทัพรับ‘ซีพี100ปี’ ‘เจ้าสัวธนินท์’ดันทายาทรุ่น 3 ผงาดโลก

บุกลงทุนสาธารณูปโภค
 ซีพีกรุ๊ปในยุคศุภชัยนั่งเป็นซีอีโอ ไม่ได้จำกัดแค่ธุรกิจดั้งเดิมเท่านั้น ปัจจุบันได้เข้าร่วมประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (Hi Speed Train) เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และ อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องวงเงิน 224,544 ล้านบาท และสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน มูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท ในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร โดยบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ที่มีนายธนินท์ เจียรวนนท์และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นแกนนำอยู่ระหว่างการพิจารณาทำสัญญากับทางการ เชื่อว่าน่าจะจบ “ดีล” ได้ในเร็วๆ นี้

ขยายสาขาค้าปลีกใน-นอก  
 สำหรับกลุ่มธุรกิจค้าปลีก นายธนินท์ เจียรวนนท์ ยังนั่งเป็นประธานกรรมการ และมีนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและรองประธานกรรมการ โดยมีลูกหม้อเก่าแก่ของเครือซีพี อย่างนายธานินทร์ บูรณมานิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ โดยในปีที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจค้าปลีกมีรายได้กว่า 5.67 แสนล้านบาท มาจากร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” กว่า 3.35 แสนล้านบาท ธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง “แม็คโคร” กว่า 1.92 แสนล้านบาท และธุรกิจอื่นๆกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
 ขณะที่แผนการลงทุนโดยรวมของเซเว่น อีเลฟเว่นในปีนี้จะขยายสาขาเพิ่ม 450-500 สาขาทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่มีสาขากว่า 1.3 หมื่นสาขาทั่วประเทศ และล่าสุดยังได้สิทธิแฟรนไชส์จัดตั้งและดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในสปป.ลาวและกัมพูชาด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ ขณะที่แผนการลงทุนของแม็คโครในปีนี้ จะใช้เงินลงทุนราว 8,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายสาขาเพิ่มอีก 7-8 สาขา ปรับปรุงสาขาและลงทุนด้านไอทีในเมืองไทย 5,800 ล้านบาท และลงทุนขยายสาขาในประเทศแถบเอเชีย 2,700 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการในกัมพูชา 2 สาขา และอินเดีย 3 สาขา

ลุยการเงินธนาคาร
 เครือซีพีฯยังสยายธุรกิจสู่บริการทางการเงิน การธนาคารและประกันภัย ธุรกิจหลัก เครือฯร่วมมือกับกลุ่มบริษัทชั้นนำแบบครบวงจรระดับนานาชาติ ทั้งจากประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น โดยในประเทศจีนมี Ping An Insurance ที่ให้บริการทางการเงิน Zheng Xin Bank ให้บริการด้านการเงิน และ ITOCHU ที่จัดการการเงิน รวมถึงการลงทุนทางธุรกิจในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
 เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ธนาคารกรุงศรี (BAY) ได้ขายหุ้นในบริษัทเงินติดล้อ จำกัด 50% (จากที่ BAY ถืออยู่ 100%) ให้กับ Siam Asia Credit Access Ltd. ซึ่งมีกลุ่มธุรกิจของตระกูลเจียรวนนท์ ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ บริหารโดย “ชวินทร์ เจียรวนนท์”

สยายปีกอสังหาฯ
 ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือซีพี ดำเนินการโดยบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน)ภายใต้การดูแลของนายสุนทร อรุณา นนท์ชัย ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้บริหารซี.พี.แลนด์ ปัจจุบันแบ่งเป็น 7 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจที่พักอาศัย บ้าน คอนโดมิเนียม 2.ธุรกิจโรงแรม 3.ธุรกิจอาคารสำนักงาน4.นิคมอุตสาหกรรมซีพี จีซี 5.ธุรกิจบริหารอาคาร 6.ธุรกิจพลังงาน 7.ธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น
 ที่ผ่านมาซี.พี.แลนด์ ยังขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ โดยได้ร่วมลงทุนกับบริษัท กว่างซี คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป รัฐวิสาหกิจจากมณฑลหนานหนิง ที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ จัดตั้งบริษัท ซีจี คอร์เปอเรชั่น จำกัด ทุนจดทะเบียน 3 พันล้านบาท พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขต อ.บ้านค่าย และ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่

ผนึกอาลีบาบาผู้นำฟินเทค
 กลุ่ม“ฟินเทค“เป็นอีก 1 ธุรกิจแห่งอนาคต ที่กลุ่มซีพีไม่พลาดที่จะลงสนาม จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดในปี 2559 บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ทภายใต้“ทรูมันนี่” ของเครือซีพี ผู้นำฟินเทคในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศเป็นพันธมิตรกับบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป ผู้ให้บริการอี-วอลเล็ท ภายใต้ชื่อ อาลีเพย์ ของกลุ่มอาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซโลก เพื่อแลกเปลี่ยนด้านกลยุทธ์ เทคนิค และจุดแข็งซึ่งกันและกัน
 ครั้งนั้น เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ นั่งเจ็ตส่วนตัว ไปจับมือกับแจ็ค หม่า ประธานบริหารอาลีบาบา กรุ๊ป ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประกาศเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำฟินเทค และดิจิทัล เซอร์วิส ในภูมิภาคเอเชีย ภายใน 2561 และจะเข้าถึงผู้ใช้กว่า 2 พันล้านคนใน 10ปี และมีเป้าหมายขยับจากธุรกิจฟินเทคไปสู่ฟินไลฟ์ ที่จะให้บริการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ อย่างครอบคลุม ทั้งบริการสินเชื่อ การซื้อหน่วยลงทุน ประกันภัย เช่นเดียวกับแอนท์ไฟแนนเชียล

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,466 วันที่ 2 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562