ลึก-ลับ ‘ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์’ กับ ‘ค่าโง่แห่งชาติหมื่นล้าน’ (จบ)

01 พ.ค. 2562 | 16:37 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 ระหว่างวันที่ 2-4 พ.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

ลึก-ลับ ‘ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์’

กับ ‘ค่าโง่แห่งชาติหมื่นล้าน’ (จบ)

 

          คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ ของกอร์ดอน วู เศรษฐีอันดับ 43 ของฮ่องกง 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ได้สร้างความตกตะลึงให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะนึกไม่ถึงว่า “รัฐไทย” ต้อง “จ่ายค่าโง่” ที่มากโขขนาดนั้น

          ผู้คนในสังคมต่างตั้งคำถามตัวโตๆ ว่า เกิดอะไรขึ้น มีข้าราชการและนักการเมืองคนไหนควรรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง ระบบการตัดสินของอนุญาโตตุลาการควรมีการรื้อกันหรือไม่!

          ผมขอบันทึกในประวัติศาสตร์ค่าโง่แห่งชาติไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความอนาถใจเป็นพิเศษ

          ผ่านบันทึกโครงการโฮปเวลล์ ของ พ.อ.วินัยสมพงษ์ ผู้ทำคลอดโครงการโฮปเวลล์ตัวจริงเสียงจริง เขียนไว้นานตั้งแต่ปี 2550-2551 ผมเก็บไว้ในไดรฟ์ A เชิญทัศนาหาความจริงกันได้...เป็นตอนที่ 2

          โดยตอนแรก พ.อ.วินัย ได้อธิบายเรื่องราวของ มนตรี พงษ์พานิช และ กอร์ดอน วู ไว้อย่างได้อรรถรส และมีการเชิญ กอร์ดอน วู มาประชุมกันที่ รฟท.เพื่อตอกเสาเข็มโฮปเวลล์

          สาระการประชุม 2 ฝ่ายวันนั้นคือ ผมบอกมิสเตอร์ กอร์ดอน วู ว่า ผมเปิดไฟเขียวให้โครงการดำเนินการได้ ถ้าเขาจะทำโครงการก็ให้เริ่มทำ ถ้าไม่ทำก็บอกมา อย่าเสียเวลา เพราะตั้งแต่มิสเตอร์ กอร์ดอน วู ได้รับสัมปทานมาร่วม 2 ปี ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างอะไรให้เห็นเลย....

          ผมเป็นทหารเก่า พูดอะไรก็ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมให้เสียเวลา ผมมีศักดิ์ศรี ไม่แบมือขอใคร ลำพังแค่เงินเดือนก็พอกินพอใช้ได้ ไม่เดือดร้อนเพราะอยู่อย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ แต่สิ่งที่ต้องการสูงสุดคือ งาน งาน และงาน เพื่อแก้ปัญหามวลชน โดยเฉพาะการจราจรในกทม. ซึ่งยังเป็นความฝังใจที่ยังข้องใจจนทุกวันนี้

          การประชุมร่วมนี้ ผมทำโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมาที่ลำโพง มิสเตอร์ กอร์ดอน วู เริ่มสตาร์ตเครื่องเต็มสูบ เสาเข็มของโครงการต้นมหึมา ราคาต้นละ 4 แสนบาท เสียบลงไปในดินตามแนวโครงการ เสาโผล่ขึ้น คานก็พาดเรียงรายให้เห็นเป็นพันต้น

          แนวแรกที่โครงการนี้ดำเนินการไปคือแนวทิศเหนือจนถึงดอนเมือง-รังสิต แนวตะวันออกไปทางสถานีรถไฟหัวหมากไปใกล้ๆ สนามบินสุวรรณภูมิ.....เสาและคานโฮปเวลล์ก็เรียงรายให้ท่านได้เห็นอยู่ ด้วยประการฉะนี้”

          เมื่อผมพ้นความเป็น รมว.คมนาคม โครงการนี้ก็วูบ การก่อสร้างหยุดชะงัก เพราะอะไรผมไม่ทราบ!...

          “ระหว่างผมเป็นรัฐมนตรี มิสเตอร์ กอร์ดอน วู เคยไปเยี่ยมหารือผมที่กระทรวงอยู่บ้าง ผมก็ถือโอกาสเลี้ยงเขาด้วยก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ไอศกรีมแบบไทยๆ และจะมีสื่อมวลชนเป็นพยาน...เขาเคยเชิญผมไปฮ่องกง ไปจีน ผมปฏิเสธและขอบคุณเขา เมื่อผมพ้นกระทรวงคมนาคม เราไม่เคยเจอกันอีกเลย เหลือแต่โครงการค้างเติ่ง เข็มเสาและคานให้ผมขมขื่นและสะเทือนใจ....

          เพราะคนมองว่า มันเป็นอนุสรณ์ของความล้มเหลว คนมองว่า Hopeless!

          และคนเข้าใจผิดคิดว่า โครงการนี้เป็นการผลาญเงินรัฐบาล ทั้งๆ ที่ทุกบาททุกสตางค์ เขา-ผู้รับสัมปทานเป็นคนเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งผมคาดว่า เขาคงจะลงทุนไปสัก 6,000-7,000 ล้านบาท (แต่ผมไม่รู้เขาหมดสตางค์ไปเท่าใด ได้แต่คาดเอาว่าคงประมาณๆ นั้น ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ )

          เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ คุณทักษิณ คิดจะทุบเสาทุบคานโฮปเวลล์ทิ้ง ผมก็ออกมาคัดค้านหัวชนฝา ผมบอกว่า เสาและคานเป็น Asset เป็นสมบัติของแผ่นดิน มูลค่าวันนี้อาจจะเป็นหมื่นล้าน หน้าที่ของรัฐบาลคือ เอารางรถไฟขึ้นพาดบนเสาบนคาน ไม่มีประเทศไหนที่รถไฟและรถยนต์อยู่บนพื้นดินระดับเดียวกันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ รถไฟต้องลอยฟ้า หรือมุดลงดิน รถยนต์จะได้ไม่ติดรถไฟ การจราจรจะได้ลื่นไหล....

          ผมค้านคุณทักษิณเรื่องท่านจะทุบเสาโฮปเวลล์ จนคนกรุงเทพฯ มีความเห็นด้วยกับผม 85% ว่า ไม่ควรทุบทิ้งแต่หาทางเอารางรถไฟยกขึ้นไปบนคานโฮปเวลล์เสีย

          มิสเตอร์ กอร์ดอน วู ทำโครงการโฮปเวลล์แล้วเท่าที่เราเห็น แม้จะมีข้อพิพาทฟ้องร้องกับรัฐบาลไทย โครงการต้องหยุดชะงัก แต่เขาก็ม้วนแผ่นดินเราไปไหนไม่ได้ เสาและคานโฮปเวลล์ ต้องอยู่ในแผ่นดินของเรา เมื่อสร้างในแผ่นดินเรา เราต้องหาทางใช้ประโยชน์

          ผมเขียนเรื่องโฮปเวลล์ เพื่อให้คนรู้ คนเข้าใจ...

          เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2550 ท่านอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผมไปร่วมสัมมนากับกระทรวงคมนาคม เรื่อง Transportation และ Logistics ผมมีโอกาสอภิปรายในวงสัมมนาซึ่งมีผู้ร่วมงาน 200-300 คน ผมก็แนะนำว่ากระทรวงคมนาคม (โดยเฉพาะ รฟท.) ควรใช้ประโยชน์จากเสาและคานโฮปเวลล์เอารางรถไฟซึ่งอยู่ ณ พื้นดินขึ้นพาดบนคานโฮปเวลล์เสีย เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในกทม.

          ผมดีใจมาก ดีใจจริง ๆ ที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ) ยืนยันว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ระหว่างบางซื่อ-ดอนเมือง-รังสิต จะเอาเสาและคานโฮปเวลล์ มาใช้ประโยชน์แน่นอน และผมก็ได้รับคำยืนยันจากผู้ใหญ่ในกระทรวงคมนาคมด้วยเช่นกัน ว่าเสาและคานโฮปเวลล์ไม่สูญเปล่าแน่นอน ...

          Hopewell ที่กลายเป็น Hopeless เปลี่ยนมาเป็น Hopeful ได้

          มันเป็นบทพิสูจน์เจตนาดี กว่าจะบรรลุผลอาจจะพบอุปสรรคนานัปการ อย่างน้อยที่สุดหลายฝ่าย หลายคนที่ทุ่มเททำงานด้วยกัน ด้วยหวังที่จะแก้ปัญหาให้มวลชนนั้นไม่สูญเปล่า เป็นเจตนาดีและเจตนาบริสุทธิ์ ผลงานนั้นก็ยังประโยชน์ให้มวลชนในที่สุด...

          ในบันทึกช่วงนั้น พ.อ.วินัย บอกว่า เป็น Hopeful....มิใช่ Hopeless

          แต่พลันเมื่อศาลตัดสินให้รฟท.จ่ายค่าโง่ 1.2 หมื่นล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตอนหลังทางผู้บริหารการรถไฟฯ ออกมายอมรับว่าจะต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท ปัจจุบันคนไทยกำลังร้องกันระงมว่านี่เป็นโครงการที่ “Hope เวรกรรม” ประเทศไทย!!!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

●  ศาลปกครองกลางยกคำขอ"คมนาคม"ไม่รื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์

● เสียค่าโง่โฮปเวลล์ ศาลสั่งรฟท.จ่าย 1.2 หมื่นล้านบาท+ดอกเบี้ย

● ฟื้นคดี ค่าโง่โฮปเวลล์ ก่อนเฉือนที่ดินรถไฟจ่าย

หนังสือลับขายโฮปเวลล์ไม้เด็ดรื้อค่าโง่ 2.5 หมื่นล้าน!

อัยการยื่นศาลปค.รื้อค่าโง่โฮปเวลล์1.2หมื่นล้านแล้ว

เชิญโฮปเวลล์เจรจาเคลียร์หนี้1.2หมื่นล้าน

ลึก-ลับผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์กับค่าโง่แห่งชาติหมื่นล้าน’ (จบ)

รฟท.ยันตั้งคณะทำงานสู้ค่าโง่โฮปเวลล์เสร็จสัปดาห์นี้

กุลิศยัวะ จ่ายบานค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5หมื่นล้าน

ค่าโง่โฮปเวลล์ 1.18 หมื่นล้านมากขนาดไหน

ย้อนรอย...ค่าโง่โฮปเวลล์2หมื่นล้าน