ดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจชะลอ เอกชนจีนผิดนัดชำระหนี้พุ่ง 4 เท่า

02 พ.ค. 2562 | 06:45 น.

ปัญหาหนี้ภาครัฐที่พุ่งสูงขึ้นมากในระดับโลกจนทำให้เกิดความกังวลว่าจะเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม และอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในบางประเทศ เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกรวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกโรงเตือนแล้วว่าต้องจับตากันให้ดี เพราะเป็นความเสี่ยงที่กำลังก่อขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ  โดยเฉพาะในประเทศที่สภาวะหนี้พุ่งทะยานไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในภาครัฐ แต่หากมองไปในระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนแล้วพบว่าปัญหาไม่ได้เบาบางไปกว่ากัน นั่นก็เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ

 

ยกตัวอย่างหนี้ภาคเอกชนของจีน ซึ่งทะยานสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา (2561) เรียกได้ว่า สูงมากเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ไม่ว่าจะเป็นในรูปสกุลเงินหยวนของจีนเองหรือสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่างก็แข่งกันขยับสูงขึ้น โดยสถิติข้อมูลจากธนาคาร ดีบีเอส ระบุว่า มูลค่าหนี้ซึ่งเกิดจากการผิดนัดชำระคืนหุ้นกู้ของบรรดาบริษัทเอกชนจีนที่อยู่ในรูปเงินหยวนนั้น ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 119,600 ล้านหยวน หรือราว 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการคุมเข้มด้านสินเชื่อของรัฐบาล “ในปีที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้สูงมากเป็นประวัติการณ์ การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากยิ่งขึ้นได้เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินแล้ว” รายงานของธนาคารดีบีเอสระบุ ทั้งนี้ เกือบ 40% ของหนี้หุ้นกู้ (ในสกุลเงินหยวน) ที่ผิดนัดชำระโดย บริษัทเอกชนจีนในปีที่ผ่านมา มาจากอุตสาหกรรมภาคพลังงาน 

ดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจชะลอ เอกชนจีนผิดนัดชำระหนี้พุ่ง 4 เท่า

บทวิเคราะห์อีกชิ้นของธนาคารโนมูระ ให้ภาพสะท้อนของปัญหาที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากในการวิเคราะห์ของโนมูระนั้น มูลค่าการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในรูปสกุลเงินหยวนของบริษัทเอกชนจีนที่เรียกว่า onshore bond ในปีที่ผ่านมานั้น เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประเมินของธนาคารดีบีเอส คือสูงถึง 159,600 ล้านหยวน หรือกว่า 23,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าสถิติในปีก่อนหน้า (2560) ถึง 4 เท่า ส่วนการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในสกุลเงินดอลลาร์ หรือ offshore bond ของบริษัทเอกชนจีนในปี 2561 ก็สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ 

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีนี้ (2562) โดยสถิติชี้ว่าจะมีหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนจีนที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 นี้คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 3.5 ล้านล้านหยวนท่ามกลางบริบทของสภาวะการเงินตึงตัวซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการคลัง ซํ้าเติมด้วยต้นทุนกู้ยืมที่ขยับสูงขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ของจีนซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ได้หักอัตราเงินเฟ้อออกไปแล้ว ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.35% ซึ่งเป็นการเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่แท้จริงในช่วงต้นปีก่อนหน้า (2560) ที่มีอัตรา -3.1%  สถานการณ์เพิ่มความยากลำบากมากขึ้นเมื่อธนาคารพาณิชย์ของจีนเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อย กู้ให้กับบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้หาเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ได้ยากขึ้น

 

เอ็ดมันด์ โกห์  ผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด อินเวสต์เมนต์ เปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นในปี 2560 มาจนถึงต้นปี 2561 ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนจีนมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มขยับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้ค่าเงินดอลลาร์ขยับแข็งขึ้น บริษัทที่มีหนี้ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ก็ต้องพบกับภาระหนี้ที่หนักขึ้นและยากต่อการชำระคืนยิ่งขึ้นไปอีก

 

ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่ปี 2560 หลังจากที่รัฐบาลจีนออกมาตรการคุมเข้มระบบธนาคารเงา หรือ Shadow Banking (บริการทางการเงินที่เกิดขึ้นนอกระบบธนาคาร) ที่เคยเป็นที่พึ่งด้านการระดมทุนให้กับบริษัทเอกชนที่อาจมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะออกหุ้นกู้ แต่มีความต้องการด้านเงินทุน ก็ทำให้แหล่งระดมทุนที่เป็นความจำเป็นของบริษัทเหล่านี้เหือดแห้งไป  

 

เหล่านี้เป็นปัจจัยประกอบที่ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า ปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนจีนจะยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ และหากเป็นเช่นนั้นก็ย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจจีนที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาหนี้ภาครัฐที่ทะยานสูงขึ้นอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนเริ่มเข้าสู่วงจรผ่อนผันการคุมเข้มสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้มากขึ้นอีกครั้ง อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้ภาวะเงินตึงตัวรุนแรงนั้นผ่อนคลายลงและเป็นการต่อลมหายใจให้กับบริษัทเอกชนที่กำลังลุ้นระทึกเมื่อนัดชำระไถ่ถอนหุ้นกู้ในปีนี้ใกล้เข้ามาทุกที นักวิเคราะห์เชื่อว่าเรายังจะได้เห็นมาตรการ อื่นๆ จากรัฐบาลจีน เช่นการลดหย่อนภาษี และการใช้นโยบายการคลัง เข้ามาช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นในปี 2562 นี้ด้วย 

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3466 ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562

ดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจชะลอ เอกชนจีนผิดนัดชำระหนี้พุ่ง 4 เท่า