ครม.เคาะกระตุ้นเศรษฐกิจ งัดมาตรการภาษี-ควัก 1.3 หมื่นล้านช่วยคนรายได้น้อย

30 เม.ย. 2562 | 07:51 น.

- 30 เม.ย.62 -คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 หลายมาตรการ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มมาตรการ 

โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มของการพยุงเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการประชารัฐจำนวน 4 มาตรการ วงเงินรวมกว่า 13,650 ล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มเบี้ยคนพิการ จำนวน 200 บาท ตั้งแต่ พ.ค. ถึง ก.ย. มี 1.1 ล้านคนได้ประโยชน์ ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท 

มาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้เกษตรกร ช่วยค่าปุ๋ย ยาฆ่าแมลง คนละ 1,000 บาท ใช้งบ 4,100 ล้านบาท มี 4.1 ล้านคน ได้รับประโยชน์ 

มาตรการช่วยพ่อแม่ในช่วยปีเปิดการศึกษาเพิ่มขึ้นจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จำนวน 500 บาทต่อบุตร 1 คน  จำนวนคนได้ประโยชน์ 2.7 ล้านคน วงเงิน 1,350 ล้านบาท

มาตรการกระตุ้นการบริโภค รักษากำลังซื้อ เป็นการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้า 500 บาทให้ทุกคนต่อคน/เดือนเท่ากันทุกคน เป็นเวลา 2 เดือน เดือน พ.ค. – มิ.ย. 2562 วงเงิน 6,600 ล้านบาท 

“3 มาตรการแรกจะเริ่มจ่ายได้ในวันที่ 15 พ.ค. เป็นต้นไป ส่วนกระตุ้นการบริโภคเงินจะเข้าวันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป และหากเป็นทั้งรายได้น้อย ที่พิการ และมีลูกก็ได้รับมาตรการทั้งหมด”

ส่วนมาตรการกลุ่มที่สอง เป็นมาตรการทางภาษี ได้แก่ มาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย โดยนำค่าที่พัก สำหรับการท่องเที่ยวในเมืองหลักรวมไม่เกิน 15,000 บาท และเมืองรอง รวมไม่เกิน 20,000 บาท ใช้ลดหย่อนภาษี เริ่มมาตรการตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 มิ.ย.2562 

มาตรการภาษีซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและการกีฬา แต่ไม่รวมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมซื้อไม่เกิน 15,000 บาท ระยะเวลามาตรการ 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2562   มาตรการซื้อสินค้าโอท็อป รวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ระยะเวลามาตรการวันนี้ถึง 30 มิ.ย.2562

มาตรการเพื่อส่งเสริมการอ่าน เป็นค่าซื้อหนังสือและอีบุ๊ค  รวมวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท ระยะเวลาของมาตรการตลอดทั้งปี 2562 

มาตรการภาษีเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท นำไปเป็นค่าลดหย่อนไม่เกิน 100,000 บาท  ซึ่งต้องเป็นคนที่ไม่เคยมีหรือเป็นเจ้าของอสังหาฯมาก่อน และมาตรการรายจ่ายลงทุนของนิติบุคคล ด้วยการนำระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่ รายจ่ายลงทุน ซื้อเครื่องบันทึกการเก็บเงิน เชื่อมกับระบบการชำระเงินทางเอิเล็กทรอกนิกส์

ครม.เคาะกระตุ้นเศรษฐกิจ งัดมาตรการภาษี-ควัก 1.3  หมื่นล้านช่วยคนรายได้น้อย