ใครครองแชมป์ สมรภูมิน่านฟ้าไทย

06 พ.ค. 2562 | 03:50 น.

วันนี้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินต้นทุนตํ่าสัญชาติไทย จากสถิติในปี 2561 ที่พบว่ามีถึง 72 ล้านคนนั้น ในจำนวนนี้กว่า 57 ล้านคน เป็น กลุ่มที่บินในประเทศ ขณะที่อีก 15 ล้านคน เป็นผู้โดยสารที่ใช้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ จากสายการบินต้นทุนตํ่าของไทยที่เปิดให้บริการอยู่ 6 ราย

“ไทยแอร์เอเชีย” ครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุดกว่า 45% ของการเดินทางด้วยสายการบินต้นทุนตํ่าทั้งหมดไปแล้ว ตามมาด้วยเบอร์ 2 คือ “ไทยไลอ้อนแอร์” 24% ใกล้เคียงกับเบอร์ 3 อย่าง “นกแอร์” ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 23% ตามมาด้วยไทยเวียตเจ็ท,ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และนกสกู๊ต

ใครครองแชมป์ สมรภูมิน่านฟ้าไทย

ทั้งจากข้อมูล ณ ไตรมาส 4 ปี 2561 ไทยแอร์เอเชีย ยังคงเป็นผู้นำตลาดการบินเส้นทางภายในประเทศ ทั้งในด้านจำนวนเส้นทาง จำนวนเที่ยวบิน โดยไทยแอร์เอเชีย มีเที่ยวบินต่อสัปดาห์มากถึง 3,240 เที่ยวบิน คิดเป็น 30% ตามมาด้วยนกแอร์ 2,596 เที่ยวบิน คิดเป็น 23%

ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศเอง หากรวมการให้ บริการของไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ รวมกัน 2 สายการบิน ก็ครองส่วนแบ่ง ตลาดถึง 62% แล้ว 

ใครครองแชมป์ สมรภูมิน่านฟ้าไทย

การมีมาร์เก็ตแชร์ใน ตลาดสูง ก็เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจที่จะทำให้สายการบินสามารถขับเคลื่อนจำนวนที่ผู้โดยสารและรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จในแง่ของผลประกอบการ

เพราะการดำเนินธุรกิจสายการบินของไทยวันนี้ นับวันมีแต่กำไรหายฮวบ ส่วนใครที่ขาดทุนอยู่เดิมก็มีแต่ติดตัวแดงเถือกไปมากกว่าเดิม แม้ทุกสายการบินจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีก็ตาม แต่ก็ไม่อาจต้านทานต้นทุนนํ้ามันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างปีที่ผ่านมาก็ปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี และไหนจะการแข่งขันอีกต่างหาก

ไม่แปลกที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สายการบินของไทยทุกรายต่างมีผลประกอบการที่ถดถอย ไทยไลอ้อนแอร์ ก็ขาดทุนรวมกันกว่า 3.79 พันล้านบาท นกแอร์ขาดทุนร่วม 1 หมื่นล้านบาท ไทยแอร์เอเชียเอง แม้จะกำไรต่อเนื่อง แต่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนจากเคยกำไรหลักพันล้านบาทเหลือกำไรอยู่ในหลักกว่าร้อยล้านบาท ที่เป็นเช่นนี้เพราะการจะหวังพึ่งรายได้จากค่าตั๋วเครื่องบิน อย่างเดียวคงไปรอด โดยเฉพาะ เส้นทางบินในประเทศที่มีการแข่งขันสูงกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศมาก เห็นได้ชัดเจนว่า แม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีสายการบินของไทยรายใด ที่สามารถขายตั๋วชน เพดานที่ถูกควบคุมไว้ได้เลย 

เส้นทางที่สายการบินสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารสูงสุดก็อยู่ที่ 18.67 บาทต่อกม. คือเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน (เพดานกำหนดให้ไม่เกิน 22บาทต่อกม.) เพราะมีบางกอกแอร์เวย์สทำการบินเพียงสายเดียว ส่วนเส้นทางที่มีการแข่งขันสูงมีหลายสายการบินทำการบิน (คุมเพดาน 13 บาทต่อกม.) ราคาค่าโดยสารสูงสุดก็อยู่ที่9.44 บาทต่อกม. ขณะที่ค่าโดยสารตํ่าสุดที่ขายอยู่ที่ 0.43 บาทต่อกม.เท่านั้น ผู้โดยสารอาจจะได้ประโยชน์แต่สายการบินก็คงเหนื่อย 

สถานการณ์คงเป็นแบบนี้ต่อไปยกเว้นจะมีสายการบินต้นทุนตํ่ารายใดล้มหายไป จากสายป่านหมดหรือแข่งขันกันจนตายไปข้างหนึ่ง ถ้าส่วนแบ่งตลาดลดลง ใครฮุบมาร์เก็ตแชร์ได้มาก นั่นแหละถึงมีโอกาสปรับราคาขายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ และในระหว่างนี้ยุทธศาสตร์ของสายการบินต้นทุนตํ่าเหล่านี้ คือ การขยายจุดบินระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพราะแข่งขันน้อยกว่า มีช่องว่างอีกมากในการขยายตลาดได้อีกนั่นเอง 

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3466 ระหว่างวันที่ 2 - 4 พฤษภาคม 2562

ใครครองแชมป์ สมรภูมิน่านฟ้าไทย