ธุรกิจไม้สับบูม  ญี่ปุ่น-จีนซื้อไม่อั้น 5บิ๊กชิงตลาด

02 พ.ค. 2562 | 10:20 น.

 

หลายคนคงยังไม่ทราบว่าไม้สับ (Wood Chips) เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้เข้าประเทศมานานหลายปีแล้ว เฉพาะอย่างยิ่งไม้สับจากไม้ยูคาลิปตัสที่ผู้นำเข้าจากต่างประเทศจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ และทิชชู (แต่ส่วนมากเอาไปทำเยื่อกระดาษ) มีตลาดหลักที่ตลาดญี่ปุ่นและจีน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ส่งออกหลัก 5 รายใหญ่ ได้แก่ กลุ่มบริษัท ชัยโยทริปเปิ้ลเอฯ (เครือเกษตรรุ่งเรืองพืชผล), บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (เครือSCG), บริษัทสยามทรีดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (เครือโอจิ จากญี่ปุ่น) กลุ่มวีเอฟ และ เครือเอสทีซี (นครหลวงค้าข้าว)

ธุรกิจไม้สับแข่งเดือด

นายศราวุฒิ วนิชจักร์วงศ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจมันสำปะหลังและกลุ่มธุรกิจไม้สับเครือ STC ฉายภาพธุรกิจไม้สับจากไม้ยูคาลิปตัสของเครือในนามบริษัท แสงไทยวู้ดชิพส์ จำกัด ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2555 จากการรับซื้อไม้สับทั่วไปมารวบรวมและส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และจีน ต่อมาในปี 2558 ได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปไม้ยูคาลิปตัสที่รับซื้อจากเกษตรกรมาเป็นท่อน (ความยาวท่อนละ 2 เมตร) โดยจะใช้เครื่องปอกเปลือกและลำเลียงระบบสายพานเพื่อใช้เครื่องสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ได้ขนาดประมาณ 1 นิ้วคูณ 1 นิ้ว และเทกอง รอการขนส่งไปยังโรงงานแสงไทยวู้ดชิพส์ ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเก็บสต๊อกและรอการส่งออก

ธุรกิจไม้สับบูม   ญี่ปุ่น-จีนซื้อไม่อั้น  5บิ๊กชิงตลาด

ศราวุฒิ วนิชจักร์วงศ์

“ปัจจุบันเครือมีโรงสับ 4 โรง ที่ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และที่กำลังจะแล้วเสร็จคือที่กาฬสินธุ์ รับซื้อไม้ยูคาลิปตัสเป็นท่อนจากชาวไร่มาแปรรูปสัดส่วน 30% และอีก 70% ซื้อจากโรงสับทั่วไป”

สำหรับธุรกิจไม้สับนี้วัฏจักร(Circle) ธุรกิจจะมีขึ้น-ลงในทุก 4 ปี (เนื่องจากไม้ยูคาลิปตัสจะใช้เวลาในการปลูกและตัดได้ใน 4 ปี)เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกไม้สับในภาพรวมทุกบริษัทของไทยรวมกันในปี 2555 สามารถส่งออกได้ถึง 120 ลำเรือ (นํ้าหนัก 4 หมื่นตันต่อลำ) แต่ปี 2559 ลดเหลือ 84 ลำ ปี 2560 เหลือ 70 ลำ และปี 2561 เหลือ 66 ลำ ในส่วนของเครือเอสทีซีตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2555-2561 ส่งออกได้เฉลี่ยปีละ 3-6 ลำ ขณะที่ในปีนี้ (2562) ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายนสามารถส่งออกได้ถึง6 ลำแล้ว จึงตั้งเป้าปีนี้จะส่งออกได้ 10-12 ลำ และในปี 2563 น่าจะมากกว่า 10 ลำขึ้นไป

พ้นตํ่าสุดสู่ช่วงขาขึ้น

“การส่งออกไม้สับในปี 2561 น่าจะเป็นปีที่ตํ่าสุดแล้ว ปีนี้น่าจะเป็นไซเคิลขาขึ้น สัญญาณจากธุรกิจเริ่มกลับมา ไม้วัตถุดิบก็มีเยอะผิดหูผิดตา และปีหน้าผลผลิตก็คงเพิ่มขึ้น และหลังจากนั้นจะชะลอตัวและตกลงไป สำหรับราคายูคาลิปตัสที่เรารับซื้อจากชาวไร่ หรือเกษตรกรเวลานี้ ราคาหน้าโรงงานอยู่ที่ 1,100 บาทต่อตัน ซึ่งก็ถือว่าได้ราคาที่ดี เพราะการปลูกยูคาลิปตัสไม่ต้องดูแลมาก จากปีที่แล้วราคาเฉลี่ย 1,000-1,200 บาทต่อตัน โดยส่วนหนึ่งราคารับซื้อจะผันแปรตามระยะทางการขนส่ง รวมถึงราคาตลาดปลายทาง เพราะโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจะมีสูตรของเขาว่าจะใช้วัตถุดิบไม้สับจากไทยเท่าไหร่ และใช้ไม้สับชนิดอื่นจากประเทศอื่นเท่าไหร่ เช่น ไม้กระถินจากเวียดนาม หรือไม้ชนิดอื่นจากออสเตรเลีย หรือชิลีในอัตราส่วนเท่าใด”

ธุรกิจไม้สับบูม   ญี่ปุ่น-จีนซื้อไม่อั้น  5บิ๊กชิงตลาด

ธุรกิจไม้สับบูม   ญี่ปุ่น-จีนซื้อไม่อั้น  5บิ๊กชิงตลาด

ปัจจุบันราคาตลาดรับซื้อไม้สับจากไม้ยูคาลิปตัสจากญี่ปุ่นและจีน (ราคาเอฟโอบี) ความชื้น 0% อยู่ที่ 142-143 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (4,544-4,576 บาทต่อตัน คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) โดยถือเป็นราคาที่พอมีกำไรแต่ก็ไม่มากนัก

นายศราวุฒิ กล่าวอีกว่า ธุรกิจไม้สับของเครือเป็นธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจมันสำปะหลัง โดยเห็นว่าสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทางเครือมีอยู่แล้วร่วมกันได้ เช่น ลานเทกอง รถบรรทุก รถเครน เรือขนส่งไปเรือใหญ่ ทำให้ประหยัดต้นทุน มองธุรกิจในปีนี้ปีหน้าจะยังไปได้ดี ปัจจุบันทางกลุ่มมีสวนป่าปลูกเองบางส่วน และมีแผนจะขยายพันธุ์ไม้ยูคาฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้น

“ธุรกิจไม้สับส่งออกของไทยเวลานี้ทางกลุ่มไชโยทริปเปิ้ลเอมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดมากกว่า 60% ของภาพรวมเพราะเขาทำมานาน ที่เหลือเป็นของอีก 4 รายที่มีเรารวมอยู่ โดยมีส่วนแบ่งคนละ 5-10% จากที่ผ่านมามีหลายบริษัทก็เข้ามาสู่ธุรกิจแต่ก็เลิกไปเยอะ เพราะไม่ใช่ทำกันง่ายๆ ต้องมีความพร้อมหลายด้าน” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,466 วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562

ธุรกิจไม้สับบูม   ญี่ปุ่น-จีนซื้อไม่อั้น  5บิ๊กชิงตลาด