3 รัชสมัยในรอบ 93 ปี 30 เม.ย. 62 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะสละราชบัลลังก์

29 เม.ย. 2562 | 16:49 น.

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นจะทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 เมษายน 2562 ซึ่งมีผลให้รัชสมัยของพระองค์ที่เรียกว่า รัชสมัย “เฮเซ” ที่ยาวนานมา 30 ปีสิ้นสุดลงในวันเดียวกันนั้น และญี่ปุ่นก็จะก้าวเข้าสู่รัชสมัยใหม่ภายใต้ชื่อ รัชสมัย “เรวะ” เมื่อเจ้าชายนารูฮิโตะ มกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป

 

นับเป็นครั้งที่สามในรอบเกือบๆศตวรรษที่มีการเปลี่ยนรัชสมัยในญี่ปุ่น ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยังคงใช้วิธีเรียกชื่อรัชสมัยต่างๆ ซึ่งมีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมจีน โดยชื่อรัชสมัยใหม่ "เรวะ" นั้น ได้รับเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งกำหนดว่า ชื่อรัชสมัยจะต้องมีตัวอักษรญี่ปุ่น (คันจิ) เพียงสองตัว และต้องเขียนง่าย อ่านง่าย มีความหมายอันเป็นมงคล ยกตัวอย่างรัชสมัย “เฮเซ” แปลว่า "สันติสุขที่แผ่ปกคลุมไปทั่วแผ่นดิน" ส่วนรัชสมัย “เรวะ” ที่กำลังจะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.นี้ แปลว่า ความรุ่งเรืองดีงาม และความสอดคล้องเป็นเอกภาพ

 

นอกจากปีปฏิทินสากลแบบคริสตศักราชแล้ว ญี่ปุ่นยังนับปีครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิไว้บนปฏิทิน และเอกสารของทางราชการด้วย เช่น ค.ศ. 2019 คือปี เฮเซ 31 หรือ ปีที่ 31 ของการครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. นี้ หลังจากที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ แห่งรัชสมัยโชวะ

ดังกล่าวมาแล้วว่า ในรอบเกือบๆ 100 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีสมเด็จพระจักรพรรดิถึง 3 พระองค์ หรือ 3 รัชสมัย นับรวมถึงรัชสมัยล่าสุดที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยแต่ละรัชสมัย แบ่งตามลำดับเวลาได้ดังนี้ คือ 1. รัชสมัย "โชวะ" ภายใต้การครองราชย์ 63 ปีของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระบิดาของ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น คือตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2469 ถึง 7 ม.ค. 2532 ภาพจำที่สำคัญในรัชสมัยของพระองค์คือ ทรงนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนสถานะของสมเด็จพระจักรพรรดิจาก “เทพ” หรือ “พระเจ้า” เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง

ต่อมาคือ 2. รัชสมัย "เฮเซ" เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2532 เมื่อ เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 125 ของประเทศญี่ปุ่น หนึ่งวันหลังการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา รัชสมัยของพระองค์มีความหมายว่า "ความสงบสุขที่ปกคลุมแผ่ไปทั่วแผ่นดิน" สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีของรัชสมัยเฮเซ ญี่ปุ่นไม่มีสงคราม แต่การเมืองภายในประเทศก็ไม่มีเสถียรภาพมากนัก มีนายกรัฐมนตรี 15 คนในช่วง 24 ปีแรกของรัชสมัย นอกจากนี้ เมื่อมองทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีทั้งช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างร้อนแรง (ในปี 2532) และช่วงที่ฟองสบู่แตก (2534) จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ปล่อยให้คู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างจีน เติบโตแซงหน้ากลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐอเมริกา)

เจ้าฟ้าชายอากิฮิโตะ เมื่อครั้งยังเป็นมกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมิชิโกะ

ในช่วงรัชสมัยเฮเซนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงทุ่มเทเวลาให้กับการประกอบราชกรณียกิจเช่นการบำรุงขวัญและเยียวยาผู้รอดชีวิตและครอบครัวของผู้รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงการเสด็จเยี่ยมปลอบขวัญผู้ประสบภัยพิบัติในภูมิภาคต่าง ๆ

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ แห่งรัชสมัยเฮเซ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 สำนักพระราชวังอิมพีเรียล ได้ประกาศว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เม.ย. 2562 เนื่องจากทรงเห็นว่า พระองค์เองทรงอยู่ในวัยพระชราภาพ อีกทั้งพระพลานามัยที่อ่อนล้าลง ทำให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้ยากลำบาก จึงมีพระราชประสงค์จะเปิดทางให้เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร ขึ้นครองราชสมบัติแทน

 

ดังนั้น ในวันที่ 30 เม.ย. 2562 นี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระชนมายุ 85 พรรษา เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกของญี่ปุ่นในรอบ 2 ศตวรรษ ที่ทรงสละราชสมบัติขณะดำรงพระชนม์อยู่ เปิดทางให้กับ รัชสมัยที่ 3 ในรอบศตวรรษ คือ รัชสมัยเรวะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2562 เป็นต้นไปเมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร พระชนม์มายุ 59 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา

เจ้าฟ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมาร และเจ้าหญิงมาซาโกะ ในวันอภิเษกสมรส

สำหรับพระราชประวัติของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่โดยสังเขปนั้น ทรงพระราชสมภพ ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกะคุชูอิน และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทรงสนพระทัยในเรื่องของประวัติศาสตร์และดนตรี และยังโปรดปรานการสีวิโอลาอีกด้วย พระองค์ทรงอภิเษกกับนางสาวมาซาโกะ โอะวะดะ บุตรีของนักการทูต โดยเธอเองก็เป็นนักการทูต จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาเศรษฐศาสตร์

มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ จะขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่นในวันที่ 1 พ.ค. 2562 นี้ พร้อมกับการขึ้นรัชสมัยเรวะ

พระราชพิธีอภิเษกสมรส มีขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ที่หอชินโตของพระราชวังหลวงโตเกียว มีแขกผู้ได้รับเชิญราว 800 คน ซึ่งรวมถึงพระราชวงศ์จากราชวงศ์ในยุโรปจำนวนมาก และมีการถ่ายทอดสดไปยังผู้ชมราว 500 ล้านคนทั่วโลก ทั้งสองได้เลือกพำนักที่วังโทงุ ในเขตมินาโตะ กรุงโตเกียว ทรงมีพระธิดา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงไอโกะ พระชนมายุ 18 พรรษา