ดึง3บิ๊กบริหารสนามบินโลก ร่วมชิงดำอู่ตะเภา1เดือนรู้ผล

29 เม.ย. 2562 | 06:55 น.

         กองทัพเรือ ดีเดย์ประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติประมูลสนามบินอู่ตะเภา 2 พ.ค.นี้ จับตา 3 บิ๊กบริหารสนามบินระดับโลก กลุ่มนาริตะ แอร์พอร์ต กลุ่มฟราพอร์ท เยอรมนี กลุ่มจีเอ็มอาร์ อินเดีย ร่วมชิงดำ เผยไทม์ไลน์คาดใช้เวลาอีก 1 เดือนรู้ตัวผู้ชนะประมูล เล็งชงครม.อนุมัติและลงนามได้ปลายเดือนมิถุนายนนี้

          แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน จะประชุมในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาและประกาศรายชื่อกลุ่มคอนซอร์เตียม ที่ผ่านคุณสมบัติทั่วไป (ซอง 1) ของ 3 กลุ่มที่ยื่นซองประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หลังจากใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์ในการตรวจสอบเอกสารและรายละเอียดต่างๆ ที่มีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากตรงกับช่วงหยุดยาวสงกรานต์ นับจากที่ได้เปิดซอง 1 ต่อหน้าผู้ยื่นประมูลทั้ง 3 กลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562

         หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่เอกชนต้องนำเสนอ คือ ต้องระบุรายชื่อ Subcontract ซึ่งจะเป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน(operator) ที่มีประสบการณ์บริหารสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน ซึ่งชัดเจนแล้วว่ามี 3 ผู้บริหารสนามบินจากญี่ปุ่น,เยอรมนีและอินเดีย เข้ามาร่วมชิงกันเข้าบริหารสนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากกลุ่มผู้ประมูลรายใดเป็นผู้ชนะ ก็ต้องใช้ Subcontract ที่ตัวเองเสนอ มาบริหารสนามบินอู่ตะเภารวมถึงบำรุงรักษา และพัฒนาสนามบิน

           “กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส” ประกอบไปด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 45% บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป
โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 35% และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)ถือหุ้น 20% ได้เสนอ “กลุ่มผู้บริหารสนามบินนาริตะ” มาบริหารสนามบินอู่ตะเภา โดยกลุ่มดังกล่าวนอกจากบริหารสนามบินนาริตะแล้ว ยังบริหารอีกหลายสนามบินในญี่ปุ่นด้วย

          ขณะที่ “กลุ่ม แกรนด์ คอน ซอร์เตียม” ที่ประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) (อยู่ในกลุ่ม บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค) ถือหุ้น 80%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV)) ถือ 10% และบมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ถือ 10% ได้เสนอ “GMR Group” มาเป็นผู้บริหารสนามบิน

       ทั้ง GMR Group เป็นบริษัทผู้พัฒนาและบริหารจัดการท่าอากาศยานเอกชนรายใหญ่สุดของอินเดีย ที่ปัจจุบันติดอันดับผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานรายใหญ่ที่สุดในทำเนียบ Top 5 ของโลก ทั้งยังเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารงาน 2 สนามบินใหญ่ในอินเดีย คือ สนามบินเดลี และสนามบินนานาชาติไฮเดอราบัด รวม ถึงบริหารสนามบินอื่นๆ ในต่างประเทศ อาทิ สนามบินนานาชาติ มัคตัน เซบู ซึ่งเป็นสนามบินขนาดใหญ่อันดับ 2 ในฟิลิปปินส์

       ส่วนกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ที่ประกอบไปด้วย บริษัท ธนโฮล ดิ้ง จำกัด (ที่มีนายธนินท์ เจียรวนนท์และเครือญาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่), บริษัท Orient Success International Limited, บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จํากัด (มหาชน) และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ได้เสนอบริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท)ของประเทศเยอรมนี มาเป็นผู้รับจ้างบริหารสนามบิน

       “ฟราพอร์ท” เป็นผู้บริหารสนามบินนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต เป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ทั้งฟราพอร์ทยังเข้าร่วมบริหารจัดการบริการภาคพื้นดินของท่าอากาศยานอีกหลายแห่งทั่วโลกผ่านทางบริษัทลูก

ดึง3บิ๊กบริหารสนามบินโลก  ร่วมชิงดำอู่ตะเภา1เดือนรู้ผล

         แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าหลังการประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติซอง 1 เรียบร้อยในวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ ก็จะมีการพิจารณาเปิดซอง 2 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซอง 3 ผลตอบแทนพร้อมเจรจาร่างสัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายนนี้ จากนั้นจะนำเสนอ ครม.อนุมัติและลงนามได้ปลายเดือนมิถุนายนนี้

          นอกจากการเปิดประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาแล้ว เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2562 ทางสนามบินก็ได้เปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบิน ในการให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ มีพื้นที่ใช้สอยราว 22,000 ตร.ม.รองรับผู้โดยสารได้ 3-5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการราว 2 ล้านคนต่อปี มีเที่ยวบินราว 15,677 เที่ยวบินต่อปี แต่คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจะเต็มศักยภาพการรองรับ เนื่องจากมีสายการบินมาใช้บริการเพิ่มขึ้น 17 สายการ บิน รวม 33 เส้นทางบินส่วนใหญ่ เป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ดังนั้นแผนการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่เปิด PPP ที่อยู่ในขณะนี้เอกชนที่ชนะประมูลก็จะมีการลงทุนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อมารองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น ซึ่งตามแผนการลงทุนพัฒนาสูงสุดคือรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี 

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

ดึง3บิ๊กบริหารสนามบินโลก  ร่วมชิงดำอู่ตะเภา1เดือนรู้ผล