ลึก-ลับ ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์ กับ ค่าโง่แห่งชาติ 1.18 หมื่นล้าน (1)

28 เม.ย. 2562 | 13:58 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-1 พ.ค.2562 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

ลึก-ลับ ‘ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์’

กับ ‘ค่าโง่แห่งชาติ 1.18 หมื่นล้าน’ (1)

 

          ตัดสินให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯของกอร์ดอน วู เศรษฐีอันดับ 43 ของฮ่องกง 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ของศาลปกครองสูงสุดได้สร้างความตกตะลึงให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะนึกไม่ถึงว่า “รัฐไทย” ต้อง “จ่ายค่าโง่” ที่มากโขขนาดนั้น

 

ลึก-ลับ ผู้สร้างตอม่อโฮปเวลล์ กับ ค่าโง่แห่งชาติ 1.18 หมื่นล้าน (1)

 

          ผู้คนในสังคมต่างตั้งคำถามตัวโตๆว่า เกิดอะไรขึ้น มีข้าราชการและนักการเมืองคนไหนควรรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง ระบบการตัดสินของอนุญาโตตุลาการควรมีการรื้อกันหรือไม่!

          ผมขอบันทึกในประวัติศาสตร์ค่าโง่แห่งชาติไว้ ณ ที่นี้ ด้วยความอนาถใจเป็นพิเศษผ่านบันทึกโครงการโฮป เวลล์ของ พ.อ.วินัย สมพงษ์ อดีต รมว.คมนาคม ผู้ทำคลอดโครงการโฮปเวลล์ตัวจริงเสียงจริง เขียนไว้นานตั้งแต่ปี 2550-2551 ผมเก็บไว้ในไดรฟ์ A เชิญทัศนาหาความจริงกันได้...ซาละล้า

          “การดำเนินการก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์จริงๆ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน 1 ขณะที่ผมเป็น รมว.คมนาคม... ฐานราก เสา คาน ในดินและบนดินที่เห็นเรียงรายอยู่เป็นทิวแถว มันเกิดขึ้นในสมัยผมเป็น รมว.คมนาคม และไม่มีเสาหรือคานแม้แต่ต้นเดียวเกิดขึ้นอีก เมื่อผมพ้นจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม...

          แปลว่า การก่อสร้างโครงการโฮปเวลล์มันมาพร้อมกับผม และก็หายไปพร้อมกับการอำลากระทรวงคมนาคมของผม มันสร้างความฉงนให้คนทั่วไปว่า โครงการนี้เป็นโครงการ Hopewell หรือ Hopeless กันแน่ แล้วมันจะมีโอกาส Hopeful บ้างไหม!” พ.อ.วินัย สมพงษ์ นำร่องบันทึกไว้

          “โครงการนี้ ผู้อนุมัติโครงการคือ ท่านอดีตรัฐมนตรีคุณมนตรี พงษ์พานิช เมื่อปี 2533 ในขณะเป็นรมว.คมนาคม ในขณะที่ท่านมนตรี อนุมัติโครงการนี้ ผมยังเป็น รองผู้ว่าฯ กทม. และผมยังไม่รู้รายละเอียดว่าโครงการโฮปเวลล์เป็นแบบไหนอย่างไร...

          จากนั้นปี 2534 ท่านนายกฯอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนวางศิลาฤกษ์โครงการโฮปเวลล์ บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ กระทั่งปี 2535 ผมเข้ารับตำแหน่งรมว.คมนาคม ต่อจากท่านนุกูล ประจวบเหมาะ จึงได้มีโอกาสศึกษาถึงรายละเอียดของโครงการโฮปเวลล์ พอสรุปได้ว่า...

          โครงการโฮปเวลล์เป็นโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการยกระดับ 3 ชั้น (Three levels) ชั้น 1 อยู่บนพื้นดินเป็นถนน 4 เลน ชั้น 2 เป็นรถไฟลอยฟ้า ชั้น 3 เป็นทางด่วนลอยฟ้า เหมือนโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์”

          “จุดศูนย์กลางของโครงการโฮปเวลล์ อยู่บริเวณมักกะสันใกล้ ๆ กับยมราช จากจุดศูนย์กลางโครงการนี้ จะไปทางทิศเหนือ ถึงดอนเมือง และไปจนถึงสถานีรถไฟรังสิต ทางตะวันออกจะไปถึงสถานีหัวหมาก ใกล้ๆ กับสนามบินสุวรรณภูมิ ทางทิศใต้และตะวันตกจะข้ามไปถึงฝั่งธนซึ่งถ้ามองไปแล้วทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกจะเป็นการเชื่อมกันระหว่างทั้ง 2 สนามบิน ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

          “ย้อนกลับไปในสมัยผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ขณะช่วยพี่จำลอง ศรีเมือง ทำงาน เรามีปัญหาการจราจรใน กทม. ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักอกมากๆ ตอนนั้นพี่จำลองกับผมและคณะผู้บริหาร ช่วยกันทำโครงการรถไฟฟ้า BTS ซึ่งก็เป็นระบบขนส่งมวลชนชนิดรถไฟลอยฟ้า ดังที่เห็นและใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ...

          เมื่อผมมาเห็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่อย่างโฮปเวลล์ ซึ่งเป็นทั้งรถไฟลอยฟ้าและทางด่วนลอยฟ้า ก็ชอบในแนวความคิด เพราะผมคิดว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยในการแก้ปัญหาการจราจรให้คน กทม . และโฮปเวลล์มันก็มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ BTS เพราะเป็นรถไฟลอยฟ้าเหมือนกัน

          “ผมเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดีในการแก้ปัญหาการจราจรให้คนกรุงเทพฯ และที่สำคัญ รัฐบาลไทยไม่ต้องควักกระเป๋า ไม่ต้องจ่ายเงิน ทางผู้ลงทุนคือ มิสเตอร์ กอร์ดอน วู ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งระบบราง และตัวรถไฟขนส่ง และตามสัญญาสัมปทานเขาจะสร้างแฟลตให้พนักงานรถไฟอยู่บริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ จัดให้มีโรงเรียนบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ผมอยากให้พนักงานรถไฟมีสวัสดิการดีๆ มีบ้านพักดีๆ อยู่ ก็พลอยเห็นดีไปด้วย”

          หลายคนตำหนิ คุณมนตรี พงษ์พานิช ว่า ให้สัมปทานโครงการยักษ์ๆ อย่างนี้รวดเร็วทันใจเหลือเกิน และเป็นเชิงตำหนิว่า อะไรได้มาไว มันก็อันตรธานไว หรือมาไวหายไว ผมอยากให้ความเป็นธรรมกับท่านมนตรีบ้าง สมัยโน้น (ปี 2533) ในขณะคุณมนตรีให้สัมปทาน ตอนนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.การร่วมทุน กฎหมายมามีในปี 2535 รอยต่อของสมัยท่านนายกฯอานันท์ ซึ่งพ.ร.บ. ร่วมทุนปี 2535 ทำให้การทำอภิมหาโครงการต้องรอบคอบ หลายหน่วยงานต้องให้ความเห็นชอบก่อนจะอนุมัติได้ มีขั้นตอนมากมาย และใช้เวลามากในการพิจารณาอนุมัติโครงการ...

          ด้วยเหตุนี้กระมังที่คุณมนตรีจึงอนุมัติโครงการได้เร็วดุจสายฟ้าแลบ ส่วนตื้นลึกหนาบางอย่างอื่น ระหว่างคุณมนตรีกับโฮปเวลล์ อย่าถามผมเลย ผมไม่ทราบ...

          และตอนที่ผมเขียนหนังสือนี้ คุณมนตรีก็เสียชีวิตไปนานแล้ว ผมชอบแนวคิดการแก้ปัญหาการจราจรของคุณมนตรี จึงเอาโฮปเวลล์ซึ่งคุณมนตรีเป็นคนคิดคนให้สัมปทานมาดำเนินการ ในขณะคุณมนตรีมีชีวิตอยู่ ตอนผมทำพิธีตอกเสาเข็มโฮปเวลล์ ต้นปฐมฤกษ์ที่บริเวณวัดเสมียนนารี ผมยังเชิญคุณมนตรีไปเป็นประธานร่วม ผมให้เกียรติคนต้นคิด ....

          โครงการนี้ เป็นโครงการเทิร์นคีย์ หมายความว่า ฝ่ายไทยกำหนดอะไร ๆ ที่เราอยากได้ อยากใช้ เรากำหนด What? แล้วผู้รับสัมปทานรับผิดชอบการออกแบบและก่อสร้างและจัดหาให้ โครงการโฮปเวลล์นี้ผู้รับสัมปทานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่วนผลตอบแทน (ตามสัญญาสัมปทาน) คือการพัฒนาที่ดินริมทางรถไฟ “ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ผมเชิญมิสเตอร์กอร์ดอน วู ผู้รับสัมปทาน ไปประชุมที่หัวลำโพง (รฟท.) ฝ่ายเรามีผมและผู้บริหารกระทรวงคมนาคมในยุคนั้นหลายท่าน ฝ่ายกอร์ดอน วู ก็มีกรรมการบริหารของบริษัทของเขา ผมเชิญสื่อมวลชนไปเป็นสักขีพยาน