ไฮสปีด 3 สนามบิน สร้างเศรษฐกิจ 8.19 แสนล้าน

30 เม.ย. 2562 | 08:50 น.

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ออกมายืนยันว่าจะนำร่างลงนามสัญญาการประมูล นำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 หลังจากบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ยังมีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่ามีความโปร่งใสหรือเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนที่ได้ชนะโครงการไปหรือไม่


ยันประมูลโปร่งใส

ในข้อสงสัยดังกล่าวทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ในฐานะต้นเรื่องของโครงการ ได้ออกมาชี้แจงในรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล็อกสเปก ที่ยืนยันว่า การประมูลเป็นการเปิดกว้างแบบนานาชาติ ที่มีนักลงทุนไทยและต่างประเทศเข้ามาซื้อซองประมูลถึง 31 ราย แต่มีการยื่นข้อเสนอเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ตามแนวทางและวิธีการของการดำเนินการป้องกันการทุจริตหรือข้อตกลงคุณธรรม ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560

ขณะที่การนำที่ดินมักกะสัน ไปผนวกรวมกับโครงการนั้น เนื่องจากรฟท.มีแผนพัฒนาพื้นที่ 450 ไร่ โดยใช้รูปแบบการร่วมทุนกับเอกชนหรือพีพีพี ในลักษณะเดียวกับการพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธิน สถานีกลางบางซื่ออยู่แล้ว เพื่อนำรายได้มาชำระหนี้ ประกอบการนำที่ดินดังกล่าวมาพัฒนาเพียง 140 ไร่ โดยไม่รวมพื้นที่บึงมักกะสัน พื้นที่โรงซ่อมรถจักร และบ้านพัก โรงแรมและโรงพยาบาล และการนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์ จะเป็นการเช่าระยะเวลา 50 ปี และไม่มีเงื่อนไขในการต่อสัญญา

ไฮสปีด 3 สนามบิน สร้างเศรษฐกิจ 8.19 แสนล้าน


ค่าเช่าที่ดินยึดตามตลาด

อีกทั้ง การประเมินราคาที่ดินเป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งรฟท.ได้จ้างสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ประเมินราคาที่ดิน ที่ยึดหลักราคาที่ดินแปลงใหญ่รอบพื้นที่มักกะสัน ทำให้ราคาที่ดินตกถึงตารางวาละ 6 แสนบาท ซึ่งนำไปคำนวณเป็นค่าเช่าที่เอกชนต้องจ่ายให้รฟท.ตลอด 50 ปี หรือได้รับค่าเช่ารวม 52,337 ล้านบาท

ส่วนโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่เข้าไปผนวกโครงการนี้ เช่นกันเนื่องจากปัจจุบันมีหนี้อยู่ประมาณ 33,229 ล้านบาท และผลการดำเนินงานขาดทุนปีละ 300 ล้านบาท หากไม่นำมาให้เอกชนบริหารงาน รฟท.จะเป็นหนี้สะสมมากขึ้นทุกปี ดังนั้น การดำเนินงานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นี้จึงต้องให้เอกชนจ่ายสิทธิการบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ให้รฟท.ไม่น้อยกว่า 10,671 ล้านบาท จากค่าเสียโอกาสรายได้ที่รฟท.ดำเนินโครงการต่อเอง


ประหยัดงบรัฐลงทุน5ปีแรก

นอกจากนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นโครงการที่ประหยัดงบประมาณภาครัฐมากที่สุด โดยในช่วงก่อสร้าง 5 ปีแรก รัฐมีหน้าที่ส่งมอบที่ดินไม่มีภาระด้านงบประมาณการก่อสร้าง เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดก่อน และเมื่อเปิดให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูง รัฐถึงจะทยอยจ่ายเงินร่วมลงทุนคือให้เอกชน

สำหรับข้อกังวลที่มองว่าโครงการดังกล่าวนี้ จะคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่นั้น หากประเมินจากปัจจุบันมีผู้เดินทางไปภาคตะวันออกโดยรถยนต์เฉลี่ยประมาณ 4 แสนคนต่อวัน ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟความเร็วสูงในปีแรก 140,000 คนต่อวัน โดยแบ่งเป็น กลุ่มที่เดินทางในเมืองของรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน(ปัจจุบันมี 7 หมื่นคนต่อวัน) และกลุ่มที่เดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครไปพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ประมาณ 40,000 คนต่อวัน และจะมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น 4-6% ต่อปี ด้วยจำนวนขบวนรถไฟ 18 ขบวน วิ่งไปกลับระยะทาง 440 กิโลเมตร ซึ่งได้กำหนดอัตราค่าโดยสารจากสถานีมักกะสันถึงพัทยา ไม่เกิน 379 บาท ใช้การเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง และจะเริ่มมีการปรับใหม่ในปีที่ 8 ไปแล้ว และดำเนินการปรับขึ้นทุกๆ 3 ปี

ไฮสปีด 3 สนามบิน สร้างเศรษฐกิจ 8.19 แสนล้าน

 


ผลตอบแทนศก.8.19แสนล.

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนจากมูลค่าลงทุนโครงการ2.2แสนล้านบาท โครงการนี้จะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาโครงการราว 8.19 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4.46 แสนล้านบาท โดยเอกชนจะได้รับผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 10.5% เทียบกับ 20-25% ของโครงการอื่นๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเอกชนจะรับความเสี่ยงเองทั้งหมด รัฐจะไม่ตามไปชดเชยในอนาคต แต่กรณีที่เอกชนได้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานเกินปกติ จะต้องแบ่งรายได้บางส่วนให้รัฐ

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

ไฮสปีด 3 สนามบิน สร้างเศรษฐกิจ 8.19 แสนล้าน