โอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม : เวียดนามกับกฎหมายเภสัชกรรมฉบับใหม่

30 เม.ย. 2562 | 23:00 น.

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฤษฎีกาหมายเลข 115/2018/ND-CP แก้ไขเพิ่มเติมข้อกฎหมายภายใต้กฤษฎีกาหมายเลข 54/2017/ND-CP ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดําเนินธุรกิจด้านเภสัชกรรมในเวียดนาม ส่งผลให้บรรยากาศการแข่งขันทางธุรกิจในด้านดังกล่าวเปิดกว้างมากขึ้น โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเวียดนามและภาคเอกชนของต่างชาติรวมถึงไทย สามารถแข่งขันกับบริษัทผลิตเวชภัณฑ์ยาที่เป็นรัฐวิสาหกิจได้มากขึ้น ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะการขยายตลาดด้านผลิตภัณฑ์เวชสําอางซึ่งมียาเป็นส่วนประกอบสําคัญ

โอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม : เวียดนามกับกฎหมายเภสัชกรรมฉบับใหม่

สาระสําคัญของกฤษฎีกาหมายเลข 115/2018/ND-CP โดยสรุปได้ลดขั้นตอนและจํานวนเอกสารสําหรับการนําเข้ายาและเวชภัณฑ์จากต่างประเทศ อาทิ

(1) ผู้นําเข้าได้รับการยกเว้นการยื่นใบประกาศ Good Manufacturing Practice (GMP) หากสถานที่ที่ผลิตสินค้าได้รับการรับรอง GMP แล้ว ต่างจากเดิมที่กําหนดให้ยื่น GMP ของแหล่งผลิตทุกแห่ง

(2) ได้รับการยกเว้น clinical records สําหรับการนําเข้ายาที่เคยได้รับใบอนุญาตการ นําเข้าผ่านการนําเข้าด้วยวิธีเดียวกันแล้ว

(3) การผ่อนปรนข้อจํากัดด้านปริมาณการนําเข้ายาให้เป็นไปตามความต้องการของผู้นําเข้ามากขึ้นบนพื้นฐานของปริมาณความต้องการใช้ยาและความรุนแรงของโรคระบาดในประเทศเวียดนาม

(4) การย่นระยะเวลาสําหรับ การประเมินและรับรองเอกสารในการขึ้นทะเบียนเวชภัณฑ์ยาจากเดิม 60 และ 30 วัน เหลือเพียง 40 และ 20 วัน ตามลําดับ และ

(5) การกําหนดให้การขอขึ้นทะเบียนยานําเข้าสามารถใช้รายละเอียดฉลาก (label model) และคําอธิบายผลิตภัณฑ์เป็นไปตามประเทศผู้ผลิตหรือประเทศผู้ส่งออกยาก็ได้ กรณีที่ไม่มีเอกสารใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม Certificate of pharmaceutical product: CPP) เป็นต้น

การแก้ไขกฤษฎีกาในครั้งนี้จึงน่าจะส่งผลให้บริษัทเวียดนามและบริษัทต่างชาติสามารถนําเข้าเวชภัณฑ์ยามายังเวียดนามได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะยาเพื่อรักษาโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีความต้องการสูงและเป็นสาเหตุลําดับต้นกว่า 70% ของการเสียชีวิตของผู้ป่วยในเวียดนาม อย่างไรก็ดี กฤษฎีกาดังกล่าวมิได้มีการกล่าวถึงสิทธิการเช่าพื้นที่/คลังสินค้า และการกระจายสินค้าเวชภัณฑ์ยาในประเทศเวียดนาม ซึ่งตามกฎหมายฉบับเดิมกําหนดให้บริษัทที่มีการลงทุนของต่างชาติและผู้นําเข้าต่างชาติต้องใช้ผู้กระจายสินค้าและคลังสินค้าท้องถิ่นตามที่กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามกําหนด

โอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม : เวียดนามกับกฎหมายเภสัชกรรมฉบับใหม่

จากรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ BMI พบว่า ตลาดด้านยาและเวชภัณฑ์ในเวียดนามเติบโตเฉลี่ยกว่า 10% ต่อปี โดยในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2564 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ด้านประชากรสูงวัย (อายุมากกว่า 65 ปี) ที่จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 18 ล้านคน ปัจจุบันรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการผลิตยาในประเทศมากขึ้น โดยให้สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ภาษีการนําเข้าปัจจัยการผลิต และการใช้ที่ดิน เป็นต้น โดยเฉพาะการผลิตยาสามัญทั่วไปเพื่อทดแทนการนําเข้า รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและผลิตยาแผนโบราณ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนด้านสิ่งอํานวยความสะดวกด้านสุขภาพและโรงพยาบาล ในส่วนของนครโฮจิมินห์มีนโยบายส่งเสริมการใช้การบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะด้านทันตกรรม

ผู้ค้าและนักลงทุนที่สนใจจะขยายตลาดด้านเวชภัณฑ์ยาในเวียดนามควรศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เชื่อถือได้ ในส่วนของภาครัฐของไทยในประเทศเวียดนาม สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ตลอดจนสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของไทยในเวียดนามพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือการดําเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในเวียดนาม

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ http://www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3465ระหว่างวันที่ 28 เมษายน-1 พฤษภาคม 2562

โอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม : เวียดนามกับกฎหมายเภสัชกรรมฉบับใหม่