สถานีกลางบางซื่อ  แลนด์มาร์กใหม่

26 เม.ย. 2562 | 06:02 น.

แผนการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อ 2,325 ไร่นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เจ้าของที่ดินเตรียมการมานานนับปี โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ศึกษาตัวรถไฟและระบบราง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้ามาศึกษาเรื่องสมาร์ทซิตีทั้งนี้ มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นไจก้า เข้ามาช่วยดูผลการศึกษาโครงการ

การพัฒนาแบ่งพื้นที่การพัฒนารอบสถานีกลางบางซื่อออกเป็น 8 โซนคือ 1. แปลง A พื้นที่รวม 35 ไร่ มีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่ง 2.แปลง B ต่อเนื่องถึงแปลง D ในเขตรถไฟฟ้าสายสีแดง มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้งเนื่องจากอยู่ติดกับสถานีกลางบางซื่อ และเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนาผสมผสานหลากหลายรูปแบบ ตามแผน Transit Oriented Development (TOD) แต่ด้วยข้อจำกัดทางกายภาพและการใช้พื้นที่ ซึ่งวางแผนเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงของรถไฟระยะไกล จึงอาจต้องพิจารณาพัฒนาพื้นที่แปลง B และพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าวนี้ในระยะยาว

3. แปลง D พื้นที่รวม 83 ไร่ อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินและสายสีเขียว อยู่ใกล้ย่านพาณิชยกรรมริมถนนพหลโยธินและตลาดนัดจตุจักร สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อยอดการพัฒนาผสมผสานที่เกี่ยวเนื่องมายังพื้นที่แปลง D ได้ง่าย 4.พื้นที่ต่อเนื่องทางด้านเหนือโซน D มีศักยภาพการพัฒนาปานกลาง เนื่องจากอยู่ถัดออกจากรัศมีการเดิน 500 เมตร จากสถานีกลางบางซื่อ จึงมีศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัย

5. พื้นที่พัฒนาเดิมต่อเนื่องด้านใต้ของแปลง D บริเวณตลาดนัดจตุจักรและตลาดอ.ต.ก. ยังคงเอกลักษณ์และรูปแบบย่านพาณิชยกรรมเดิมไว้ 6. พื้นที่แปลง C พื้นที่สำหรับการจัดประชุมนานาชาติ การจัดนิทรรศการ ศูนย์กีฬาขนาดใหญ่

7. พื้นที่ย่านตึกแดง พื้นที่รวม 120 ไร่ มีศักยภาพสูงในเชิงที่ตั้ง พัฒนาเป็นอาคารสำนักงานของ รฟท. และอาคารสำนักงานของหน่วยงานราชการ กับอาคารที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟรวมถึงมีพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ แบบคอมมิวนิตีคาดจะสรุปการศึกษาได้ภายในปีนี้และเริ่มประมูลในปี 2563

สุดท้าย โซนที่ 8.พื้นที่ย่านกม.11 พื้นที่รวม 360 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ จึงมีศักยภาพในการพัฒนา TOD ในระดับที่แตกต่างกันแต่ละบริเวณ กล่าวคือ ด้านตะวันตกและตะวันออก ในระยะเดินเท้า 500 เมตร จากสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สีนํ้าเงินและสีเขียวส่วนต่อขยาย มีศักยภาพในการพัฒนาสูง เมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียวส่วนต่อขยายเปิดให้บริการในอนาคต 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 วันที่ 25-27 เมษายน 2562

สถานีกลางบางซื่อ   แลนด์มาร์กใหม่

สถานีกลางบางซื่อ,ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน,การรถไฟแห่งประเทศไทย, ประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์, แลนด์มาร์กใหม่,รถไฟฟ้า