‘นกแอร์’จุก ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ

28 เม.ย. 2562 | 08:00 น.

        การปล่อยเงินกู้รอบ 3 ของ “หทัยรัตน์ จุฬาง กูร” ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ภายใต้วงเงินกู้ยืม 3,000 ล้านบาท ตามมติบอร์ดนกแอร์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ขอเพิ่มวงเงินกู้อีก 2,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีจำนวน 1,000 ล้านบาท เป็นทางเลือกเดียวที่จะประคองนกแอร์ ให้ยังคงสยายปีกต่อไปได้

           เพราะกว่า 3 ปีที่ผ่านมา กระแสเงินสดของสายการบินติดลบต่อเนื่อง ขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรรกว่า 8,122 ล้านบาท การกู้เงินจากสถาบันการเงินก็คงไม่มีใครยอมปล่อยกู้ เมื่อสถานะนกแอร์ขาดทุนเกินทุนอยู่ หลักทรัพย์คํ้าประกันก็ไม่มี หรือจะเพิ่มทุนรอบที่ 4 ก็ยิ่งหนักไปใหญ่

         เนื่องจากที่ผ่านมานกแอร์ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมไปแล้วกว่า 3 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาระให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีสัญญาณชัดเจนที่ผู้ถือหุ้นอย่างการบินไทย ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 15.94% จะไม่ใช้สิทธิในการจองหุ้นเพิ่มทุน ก็จะทำให้เกิดการทยอยลดส่วนการถือหุ้นลงไปเรื่อยๆ

‘นกแอร์’จุก  ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ

        ดังนั้นการปล่อยกู้รอบนี้ ก็ช่วยทำให้นกแอร์มีสภาพคล่องทางการเงินที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยแลกกับการต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ไม่เกินกว่าอัตราเฉลี่ยดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี MLR+ร้อยละ1 ต่อปี คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 7.175 ต่อปี แม้ว่าจะทำให้นกแอร์มีภาระอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสายการบินคู่แข่ง อย่าง "ไทยแอร์เอเชีย" ที่มีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เป็นเงินกู้ยืมในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.40%และ3.25%ต่อปี ทำให้มีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าบริษัทคู่แข่ง 

‘นกแอร์’จุก  ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ

         ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยลดภาระของผู้ถือหุ้นในการเพิ่มทุนในครั้งหน้า หรือช่วยยืดระยะเวลาการเพิ่มทุนให้ช้าลง และไม่ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อยลดลงไปกว่าที่เป็นอยู่

         แล้วถามว่าก็เพิ่งจะเพิ่มทุนไปเมื่อเดือนมกราคม 2562 ได้เงินมา 2,300 ล้านบาท ประกอบกับมีเงินกู้คงค้างอยู่ราว 500 ล้านบาท แล้วเงินไปไหน ทำไมต้องขอวงเงินกู้เพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท จากข้อมูลพบว่า การระดมทุนที่ได้ในครั้งก่อนหน้านี้ นกแอร์ มีการนำไปใช้เพิ่มทุนในบริษัทสายการบินนกสกู๊ต จำกัด 245 ล้านบาท ในต้นปี 2562

         รวมถึงมีการจ่ายคืนเงินกู้ประเภทตั๋วเงินจากสถาบันการเงิน 900 ล้านบาท ที่ใช้เงินฝากของหทัยรัตน์ จุฬางกูร เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกัน รวมถึงจ่ายคืนเงินกู้ให้หทัยรัตน์ 800 ล้านบาทที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนเมษายนนี้ และชำระคืนเจ้าหนี้การค้าของบริษัทในงบการเงินเฉพาะกิจการ ซึ่งเจ้าหนี้การค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2,670ล้านบาทในปี 2559 เป็น 3,282 ล้านบาทในปี 2561 เนื่องจากสภาพคล่องที่มีไม่เพียงพอของบริษัทนั่นเอง

‘นกแอร์’จุก  ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ

       อย่างน้อยการกู้เงินที่จะได้เพิ่มมาอีก 2,000 ล้านบาทนี้ ก็ยังคงประคองให้นกแอร์ พอสยายปีกได้อยู่ แล้วจะไปไหวสักแค่ไหน เพราะตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันขาดทุนไม่ตํ่ากว่าปีละ 1,800 ล้านบาท งานนี้ขึ้นอยู่กับว่าแผนการพลิกฟื้นธุรกิจ(Turnarond Plan)ของนกแอร์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งการบริหารจัดการเครื่องบิน การลดเที่ยวบิน การเปิดจุดบินใหม่โดยเฉพาะในต่างประเทศ และการเพิ่มเที่ยวบินในจุดที่มีศักยภาพ การลดแบบเครื่องบิน โดยมีเป้าหมายต้องหยุดขาดทุนภายในปีนี้ให้ได้ก่อน และต้องหยุดการขาดทุนให้ได้ติดต่อกันถึง 3 ไตรมาสภายในปี 2563

‘นกแอร์’จุก  ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ

      ต้องลุ้นว่าจะทำได้ตามเป้าหรือไม่ ถ้าทำได้ก็พอมีทางที่กลุ่มจุฬางกูร จะขายหุ้นนกแอร์ออกไปได้ หลังอกหักจากการไปเร่ขายให้กับบริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ PG หลังจากที่ผ่านมากลุ่มจุฬางกูร เจ็บตัวกับการเข้ามาถือหุ้นในนกแอร์ ที่ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน คาดกัน ว่ากลุ่มจุฬางกูร ขาดทุนในหุ้น NOK ไปแล้วไม่ตํ่ากว่า 4,705.57 ล้านบาท

     ทั้งนี้หากนกแอร์พอฟื้นตัวและมีการดำเนินธุรกิจที่เติบโตได้บ้าง อย่างน้อยกลุ่มจุฬางกูร ก็น่าจะพอขายหุ้นออกไปได้ ทำให้นกแอร์มีความหวังที่จะบินต่อได้ ดีกว่ามานั่งรอเวลาว่าเมื่อไหร่กลุ่มจุฬางกูรจะอุ้มนกแอร์ไม่ไหว และปล่อยให้ล้มหายไป 

 

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3465 ระหว่างวันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2562

‘นกแอร์’จุก  ‘จุฬางกูร’โขกดอกปล่อยกู้ 3พันล้านต่อลมหายใจ