หนี้ภาครัฐทั่วโลกพุ่ง2เท่า แตะ66ล้านล้านดอลล์

24 เม.ย. 2562 | 09:05 น.

หนี้ภาครัฐโดยรวมทั่วโลกเมื่อช่วงสิ้นปี 2561 ขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดที่ 66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2,112 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ของจีดีพีโลก เพิ่มขึ้นจากมูลค่าหนี้ภาครัฐในปี 2560 ถึง 2 เท่า สถานการณ์หนี้ที่พุ่งสูงดังกล่าวจะทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องพบกับภาวะตึงตัวทางการคลัง ซํ้ายังจะต้องแบกรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้นจากแนวโน้มที่ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ปัญหาหนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยได้ในที่สุด

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศที่แบกรับหนี้ภาครัฐมากที่สุดในอัน ดับต้นๆ เป็นประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ในรายงานหัวข้อ หนี้ภาครัฐทั่วโลก (Global Government Debt Chart Book) ของปี 2561 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ฯ เมื่อเร็วๆ นี้ชี้ว่า ภาระหนี้ภาครัฐที่พุ่งสูงทำให้หลายประเทศ ตกที่นั่งลำบากในการบริหารจัดการนโยบายการคลังเนื่องจากประสบภาวะเงินตึงตัวท่ามกลางบริบทที่ดอกเบี้ยโลกก็กำลังขยับในทิศทางสูงขึ้น

หนี้ภาครัฐทั่วโลกพุ่ง2เท่า  แตะ66ล้านล้านดอลล์

หนี้ภาครัฐในส่วนของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว หรือในกลุ่ม developed countries นั้นมีมูลค่ารวมที่ประมาณ 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561) โดยเป็นหนี้ภาครัฐของสหรัฐอเมริกาถึง 21.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2555 (ที่หนี้อยู่ในระดับเพียง 15.2 ล้านล้านดอลลาร์) และเมื่อเทียบกับหนี้ของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วรายอื่นๆ พบว่า หนี้ภาครัฐของสหรัฐฯในขณะนี้มีมูลค่าเกือบ 10 เท่าของหนี้ภาครัฐ 4 ประเทศยุโรปรวมกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และอังกฤษ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรตติ้งส์ฯ ระบุว่า หากไม่รวมสหรัฐอเมริกาที่ถือเป็นกรณีแตกต่างเป็นพิเศษ ช่วงระหว่างปี 2555-2561 หนี้ภาครัฐของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วถือว่าทรงๆตัวหรือขยายไม่มากนัก ต่างจากหนี้ภาครัฐของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ในช่วงเวลาดังกล่าว (ปี 2555-2561) มีการขยายตัวถึง 50% หรือเพิ่มจาก 10 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 15 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคกำลังพัฒนาที่มียอดหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ 104% แต่กระนั้นยอดหนี้ของภูมิภาคดังกล่าว 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ซึ่งเป็นหนี้ระดับภูมิภาค) ก็นับว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของยอดหนี้ภาครัฐในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา เพียงแค่ประเทศเดียว ก็มีหนี้ภาครัฐถึง 21.9 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว โดยเป็นที่สังเกตว่าหนี้ของสหรัฐฯ เริ่มพุ่งขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 โดยเพิ่มขึ้น 85% เป็น 10.6 ล้านล้านดอลลาร์ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากนั้นเพิ่มขึ้น 88% เป็น 19.9 ล้านล้านดอลลาร์ในยุคประธานาธิบดีบารัก โอบามา หลังจากนั้นก็เพิ่มขึ้นอีกราว 10% ในช่วง 2 ปีแรกของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

หนี้ภาครัฐทั่วโลกพุ่ง2เท่า  แตะ66ล้านล้านดอลล์

กลุ่มประเทศที่ฟิทช์ เรตติ้งส์ฯ จัดอันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ว่าอยู่ในขั้นดีมาก AAA นั้น มี 11 ประเทศ ซึ่งมูลค่าหนี้ภาครัฐรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 40% ของหนี้ภาครัฐทั้งหมดทั่วโลก ส่วนกลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับ B นั้นมีสัดส่วนยอดหนี้ประมาณ 3% ของยอดหนี้รวม

 

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่รวมจีนนั้น ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยเฉลี่ยตํ่ากว่า BB+ เล็กน้อย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้มาจนถึงปี 2562 นี้ด้วย โดยปัจจัยหลักๆ ที่จะมีผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของประเทศต่างๆ นั้น ก็จะยังคงเป็นปัจจัยเดิมๆ ได้แก่ สภาวะความตึงตัวทางการคลัง การขึ้นหรือลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ สถานการณ์ทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น “อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงในบางประเทศอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ทางการคลังขึ้นมาได้ โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาหนี้ภาครัฐสูงอยู่แล้ว” รายงานของ ฟิทช์ เรตติ้งส์ ระบุ 

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3464 ระหว่างวันที่ 25 - 27 เมษายน 2562

หนี้ภาครัฐทั่วโลกพุ่ง2เท่า  แตะ66ล้านล้านดอลล์