“สรรพากร”ถอย! รื้อเกณฑ์รีดภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

23 เม.ย. 2562 | 09:31 น.

กรมสรรพากร ถกสมาคมธนาคารไทย-แบงก์ต่างชาติ  เคาะทางออกประกาศเรียกเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 2 หมื่นบาท  เล็งใช้วิธีเซ็นยินยอมกลับข้าง โดยผู้ที่ไม่ประสงค์ให้แบงก์ส่งข้อมูลต้องมาเซ็นยินยอม ยันไม่เลื่อนแน่นอน ย้ำใช้วิธีกระทบผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ 99% ให้น้อยที่สุด 

หลังจากประกาศกรมสรรพากร (ฉบับที่ 344) ลงวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่จะกรมสรรพากร เตรียมเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% จากดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท ต่อปี จากเดิมที่ได้รับการยกเว้น เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี ตามที่มีสถาบันการเงินบางแห่งเอื้อลูกค้ารายใหญ่ โดยให้ปิดบัญชีและเปิดบัญชีใหม่ ก่อนจะได้ดอกเบี้ยครบ 2 หมื่นบาท เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ณ ที่จ่าย 15 % นั้น

ทั้งนี้จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ซึ่งหากไม่ไปดำเนินการ ผู้ฝากทุกรายจะเสียภาษี 15% ณ ที่จ่ายทันที แม้จะได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 2 หมื่น แต่ก็สามารถขอคืนภาษีดังกล่าวในช่วงปลายปีได้

จากประเด็นร้อนดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 กรมสรรพากร และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว 

นายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้สรุปผลการประชุมว่า วันนี้กรมสรรพากรได้เชิญสมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารต่างชาติเข้าร่วมประชุมหารือเตรียมเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% จากดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี จากเดิมที่ผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทจะต้องไปแจ้ง มาเป็นให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลให้ อย่างไรก็ดี การส่งข้อมูลนั้นติดกฎหมายบางฉบับที่ผู้เสียภาษีจะต้องยินยอม ทำให้ติดปัญหาวิธีการเซ็นหนังสือยินยอม (Consent)

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการประชุม กรมสรรพากรและสมาคมธนาคารไทย เลือกวิธีที่ยืดหยุ่นที่สุด คือ ให้รูปแบบหนังสือเซ็นยินยอม (Consent) เขียนกลับข้าง โดยคนไม่ประสงค์จะให้ธนาคารส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรจะต้องแสดงตัว หากไม่แสดงตัวจะถือว่ายินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะมีการแก้ไขปรับปรุงประกาศภายในสัปดาห์หรือภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งน่าจะทันกรอบเวลากำหนดที่มีให้ Consent ภายใน 15 พฤษภาคม 2562 เนื่องจากรูปแบบฟอร์แมตซ์ Consent ธนาคารและกรมสรรพากรได้เตรียมการไว้อยู่แล้ว 

ทั้งนี้ มองว่าวิธีการทำ Consent กลับข้าง น่าจะเป็นทางออกที่ยืดหยุ่นและกระทบน้อยที่สุด โดยที่จะไม่กระทบผู้ฝากเงินที่มีรายได้จากดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี ที่มีอยู่ 99% ซึ่งคนที่เข้าข่ายที่มีรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากเข้าเกณฑ์เรียกเก็บภาษี 15% นั้น มีเพียงหลักหมื่นเท่านั้น ประกาศนี้จะทำให้เรื่องการจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพและเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาษีที่ได้จากการเก็บจากรายได้ดอกเบี้ยเงินฝากนั้นเฉลี่ยไม่ถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปีมีขึ้นมีลงไม่เท่ากันทุกปี 

“เราพยายามเลือกวิธีที่กระทบประชาชนและผู้ฝากเงินน้อยที่สุด โดยรูปแบบ Consent จะต้องสะดวกไม่เป็นภาระ หลังจากการประชุมกรมสรรพากร น่าจะใช้วิธีการให้ Consent กลับข้าง คนที่ไม่อยากให้ส่งก็มาเซ็น ซึ่งเราจะมีการพูดคุยและสื่อสารไปยังสมาคมแบงก์ต่อไป คาดว่าน่าจะทันกรอบกำหนด โดยจะมีการแก้ไขปรับปรุงประกาศออกมาภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า”

“สรรพากร”ถอย! รื้อเกณฑ์รีดภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยว่า สิ่งที่สมาคมธนาคารไทยหารือเพิ่มเติมกับกรมสรรพากรนั้น จะเป็นเรื่องการเซ็นหนังสือยินยอม (Consent) ที่จะต้องทำในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเทียบกับจำนวนฐานลูกค้าเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีมากกว่า 80 ล้านบัญชี จะไม่สามารถทำได้ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งภายในการประชุมได้มีการพูดคุยแนวทางและออฟชั่นต่างๆ ที่จะทำตามประกาศดังกล่าว โดยจะให้กรมสรรพากรนำแนวทางต่างๆ ไปพิจารณาเป็นการภายในและตัดสินใจอีกครั้ง และกลับมาสื่อสารยังสมาคมธนาคารไทยเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป

“ที่ประชุมพยายามหาออฟชั่นที่กระทบกับประชาชนและผู้ฝากเงิน 99% ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ แต่มีความกังวลให้น้อยที่สุด โดยวิธีการทางกรมสรรพากรจะมีการประชุมภายในอีกครั้ง และเมื่อได้ผลการประชุมจะนำมาสื่อสารยังสมาคมต่อไป ซึ่งเราพยายามจะเร่งหาข้อสรุปให้เร็วที่สุด ซึ่งแนวทางการเลื่อนมีการพูดคุยกัน แต่ไม่ใช่วิธีที่เลือก ส่วนการสื่อสารที่เลือกใช้อาจมีหลายระดับ ทั้งสื่อสารกลาง และแต่ละธนาคารนำไปสื่อสารเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่อไป ส่วนรูปแบบ Consent อาจจะออกมารูปแบบเหมือนกัน ส่วนวิธีการยื่น เช่น จะยื่นธนาคารแห่งเดียวได้หรือไม่นั้น คงต้องมาดูอีกที” 
                                      “สรรพากร”ถอย! รื้อเกณฑ์รีดภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก