ส่งออกไทยไปอียูวูบยาว 31 สินค้าหวั่นสูญ4.6หมื่นล้าน เบร็กซิทฉุด

26 เม.ย. 2562 | 10:05 น.

 

เบร็กซิทยื้อต่อ 6 เดือน ส่งออกไทยไปอังกฤษ-อียูส่อวูบยาว หลังฉุดเศรษฐกิจ 2 ตลาดใหญ่ทรุด ความต้องการนำเข้าสินค้าลดลง 31 สินค้าโควตาภาษีนอนผวา หวั่นถูกหั่นลดลง กระทบส่งออก 4.6 หมื่นล้าน

กรณีการถอนตัวของอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท (Brexit)ที่ล่าสุดผู้นำอียู 27 ประเทศ มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาแก่อังกฤษออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อให้อังกฤษมีเวลาในการเจรจาจัดทำความตกลงรูปแบบและเงื่อนไขความสัมพันธ์กับอียูใหม่ ซึ่ง ณ เวลานี้ ยังคาดเดายากว่าจะจบลงเช่นไร อย่างไรก็ดีผลจากเบร็กซิทได้กระทบต่อประเทศไทยชัดเจนแล้ว สัญญาณจากช่วง 3 เดือนแรกปีนี้มูลค่าการส่งออกของไทยไปอังกฤษลดลง 0.6% และไปอียู (27 ประเทศ) ลดลง 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกของไทยไป 2 ตลาดที่ขยายตัวลดลงเป็นผลจากเศรษฐกิจของทั้งอียูและอังกฤษชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากเบร็กซิทมาก กว่าปัจจัยอื่น (กราฟิกประกอบ) เพราะอังกฤษทำการค้ากับอียู 27 ประเทศมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 13% ของมูลค่าการค้าและบริการรวมของอียู 27 ประเทศ ซึ่งหากอังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงรองรับ (No-Deal Brexit) จะทำให้มีกำแพงภาษีระหว่างกัน การค้าขายจะมีอุปสรรคนานัปการ ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งอังกฤษ และอียู

ส่งออกไทยไปอียูวูบยาว 31 สินค้าหวั่นสูญ4.6หมื่นล้าน เบร็กซิทฉุด

ส่วนกรณีที่สินค้าไทย 31 รายการที่เคยได้โควตาภาษีนำเข้าอียู(28 ประเทศรวมอังกฤษ)ในอัตรา 0% หรือในอัตราตํ่า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิต ภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ซึ่งทั้งอียู 27 ประเทศ และอังกฤษต้องมีการจัดสรรโควตาใหม่ให้กับไทย ซึ่งข้อกังวลของผู้ประกอบการไทยคืออาจจะได้รับโควตาลดลงหรือไม่นั้น (ข้อมูลปี 2560 มูลค่าการนำเข้าสินค้า 31 รายการของไทยจากอียูทั้งในและนอกโควตามีมูลค่ารวม 1,395 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 46,036 ล้านบาท คำนวณที่ 33 บาทต่อดอลลาร์) คงต้องเฝ้าติดตามอังกฤษจะมีมาตรการอย่างไร หลังเบร็กซิท เพราะอังกฤษจะกำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมาเอง และอาจจะไม่ใช้มาตรการใดๆ ที่อียูกำหนดไว้ก่อน 

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่นี้จนถึงสิ้นปี เศรษฐกิจ(จีดีพี)ของอังกฤษจะชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่นกรณี No-Deal Brexit คาดการณ์ว่าจีดีพีของอังกฤษจะชะลอตัวประมาณ 0.9-1% ขณะที่ Bank of England คาดว่าปี 2562 จีดีพีอังกฤษจะลดลงเหลือ 1.2% จากปีก่อนที่ขยายตัว 1.4% มีปัจจัยหลักจากค่าเงินปอนด์อ่อนค่า ทำให้มีกำลังซื้อลดลง รวมถึงความไม่แน่นอนของ เบร็กซิท และเศรษฐกิจโลก

“คาดการณ์ส่งออกไทยไปอังกฤษ และอียูนับจากนี้จนถึงเดือนตุลาคม หรือถึงสิ้นปีจะยังคงติดลบ เพราะความไม่แน่นอนของเบร็กซิท ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน เงินปอนด์ยังอ่อนค่าต่อเนื่องสวนทางเงินบาทแข็งค่า ทำให้สินค้าไทยไปอังกฤษราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ดี UNCTAD ได้วิเคราะห์เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ระบุว่าภายใต้ No-Deal Brexit ไทยจะเป็นประเทศ
ที่ได้รับผลกระทบทางการค้าเป็นอันดับ 4 ต่อจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ข้อเสนอแนะคือ ไทยควรเจรจาทำเอฟทีเอกับอังกฤษ การจัดกิจกรรมสินค้าไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้าในอังกฤษ และทำการประชาสัมพันธ์การบริโภคผลไม้ไทยเพื่อให้ตลาดขยายตัวมากขึ้นในอนาคต” 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,464 วันที่ 25-27 เมษายน 2562

ส่งออกไทยไปอียูวูบยาว 31 สินค้าหวั่นสูญ4.6หมื่นล้าน เบร็กซิทฉุด