พิกอัพเคาน์เตอร์ จุดเปลี่ยนดิวตี้ฟรี

23 เม.ย. 2562 | 04:35 น.

           แม้ว่าการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิครั้งนี้จะมีเอกชนให้ความสนใจหลายราย แต่แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า การประมูลรอบนี้แตกต่างจากการเปิดประมูลเมื่อ 10 ปีก่อน คือพื้นที่ในการเปิดประมูลที่เพิ่มขึ้น เพราะมีทั้งพื้นที่เดิมภายในอาคารผู้โดยสารที่คิงเพาเวอร์กำลังจะหมดสัญญา ในเดือนกันยายน 2563 และมีพื้นที่ใหม่ในส่วนของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่อีก 3 พันตารางเมตร

พิกอัพเคาน์เตอร์  จุดเปลี่ยนดิวตี้ฟรี

         การเปิดประมูลรอบนี้ยังมีการแยกดิวตี้ฟรีออกเป็น 2 สัญญา คือ ดิวตี้ฟรี สนามบินสุวรรณภูมิ และดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาค ได้แก่ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่และสนามบินหาดใหญ่ ต่างจากในอดีตที่ประมูลรวมพื้นที่ 4 สนามบินในสัญญาเดียว อีกทั้งการประมูลรอบนี้มีเอกชนเข้ามายื่นเสนอตัวแข่งขันหลายราย แตกต่างจากประมูลเมื่อ 10 ปีก่อน ที่มีการแข่งขันกันแค่ 2 รายใหญ่ คือ กลุ่มคิงเพาเวอร์ และกลุ่มมิราเคิล ของนายอัศวิน อิงคะกุล

       “ทอท.มองว่าการประมูลรอบนี้จะมีการแข่งขันกันรุนแรงระหว่างกลุ่มคิงเพาเวอร์และล็อตเต้ เพราะประเมินจากการเปิดประมูลโครงการดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) พื้นที่ราว 2,000 ตารางเมตร สัญญา 10 ปี สำหรับการประกอบการในพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งผู้ชนะการประมูล คือ บริษัทคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งเสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นตํ่า(Minimum guarantee) สูงสุดอยู่ที่ 233 ล้านบาทต่อปี ตามมาด้วย บริษัทล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย)จำกัด เสนออยู่ที่ 212 ล้านบาทต่อปี เสนอราคาห่างกันไม่มาก หากเทียบกับกลุ่มเซ็นทรัล ดีเอฟเอส คอนซอร์เตี้ยมที่ เสนอผลตอบแทนขั้นตํ่าอยู่ที่120 ล้านบาทต่อปี”

         อย่างไรก็ตามการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ ธุรกิจอาจจะไม่ใช่โกยกำไรกันง่ายๆอย่างการประมูลเมื่อ 10 ปีก่อน ที่คิงเพาเวอร์ชนะประมูลไป เนื่องจากมี 2 ปัจจัยเสี่ยงที่เอกชนต้องคำนึง คือสนามบินสุวรรณภูมิจะมีการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี  พิกอัพเคาน์เตอร์ นั่นก็หมายถึงต่อไปดิวตี้ฟรี ดาวน์ทาวน์ ก็จะเปิดขึ้นได้อีกหลายแห่ง และดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรี จะทำโปรโมชันได้ดีกว่าดิวตี้ฟรีในสนามบิน เพราะไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ทอท.ที่สูงมาก ต่อไปก็จะมาส่งมอบสินค้าได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะทำให้ยอดขายดิวตี้ฟรีถูกแชร์ส่วนแบ่งตลาดออกไป

         อีกปัจจัยคือการประมูลรอบนี้ ไม่ได้มีพื้นที่ในส่วนที่คิงเพาเวอร์จะหมดสัญญาเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 3 พันตารางเมตร บริเวณอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ผู้ชนะประมูลก็ต้องจ่ายตอบแทนจากตารางเมตรที่เพิ่มขึ้น และต้องสูงกว่าที่ปัจจุบันคิงเพาเวอร์ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทอท.อยู่ที่ 15%

         “ทั้ง 2 ปัจจัยจึงเป็นความเสี่ยงที่ทำให้การประกอบการดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ จึงยากกว่าในอดีต และหากใครสายป่านไม่ยาวพอ หรือไม่มีรายได้จากส่วนอื่น มาโปะ ก็อาจมีรายการตกม้าตาย ดูจากรูปการณ์เช่นนี้คิงเพาเวอร์ กับล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี เท่านั้น ที่มีดีกรีสู้กันได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง ขณะที่ทอท.ก็รอกินค่าต๋งอย่างเดียวเหมือนเคย” 

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3463 วันที่ 21-24 เมษายน 2563

พิกอัพเคาน์เตอร์  จุดเปลี่ยนดิวตี้ฟรี