จี้เพิ่มทุน3หมื่นล. TGรับฝูงบินใหม่

21 เม.ย. 2562 | 02:15 น.

 

สศช.ไฟเขียวบินไทยซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้าน แต่ตั้งข้อสังเกตรัฐต้องหนุนเพิ่มทุน 2-3 หมื่นล้าน ทั้งเล็งดึงแอร์ไลน์ต่างชาติ สิงคโปร์หรือญี่ปุ่นร่วมทุนเสริมแกร่ง จ่อชงผู้ถือหุ้น 26 เม.ย.นี้ขอมติล้างขาดทุนสะสม 2.8 หมื่นล้าน เปิดทางรอ

แผนการจัดหาฝูงบินใหม่ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีจี จำนวน 38 ลำมูลค่า 156,000 ล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้เตรียมนำเรื่อง เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ จากนั้นการบินไทยจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือนเริ่มกระบวนการจัดซื้อฝูงบินใหม่ เพื่อให้ทยอยรับมอบได้อีกในช่วง 2 ปีนับจากวันสั่งซื้อ

ตามแผนจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ (ช่วงปี 2562-2566) โดยระยะแรกเป็นการจัดหาเครื่องบิน 25 ลำ ระยะที่ 2 เป็นการจัดหาเครื่องบิน 13 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ เพื่อนำมาใช้ทดแทนเครื่องบินเก่าที่จะปลดระวาง 31 ลำ เนื่องจากมีอายุใช้งานเกินกว่า 20 ปี จึงมีเครื่องบินใหม่ที่เข้ามาประจำฝูงบินเพียง 7 ลำ เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้บอร์ดได้อนุมัติแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทยและได้แจ้งให้การบินไทยทราบแล้ว แต่สศช. ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะของการบินไทย ด้านการเงินที่ประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ซึ่งการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้เป็นปัญหาได้

จึงเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนโดยการเพิ่มทุนให้กับการบินไทย วงเงินราว 2-3 หมื่นล้านบาท เป็นการเพิ่มทุนในสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่อยู่จำนวน 51.03% ดังนั้น การเพิ่มทุนรอบใหม่กว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นของกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าการเพิ่มทุนน่าจะเสนอครม.ชุดใหม่ ขณะที่แผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ จะสามารถเสนอครม.ให้ทันในรัฐบาลชุดนี้

“แผนการเพิ่มทุนเบื้องต้นอาจจะเสนอครม.เห็นชอบให้กระทรวงการคลังรับซื้อหุ้นจัดสรรหุ้นส่วนเกิน หรือ กรีนชู ออพชัน ในกรณีที่ขายหุ้นไม่หมด รวมทั้งอาจจะมีการดึงสายการบินพันธมิตรต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือ สิงคโปร์ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของการบินไทย” แหล่งข่าวระบุ

อีกทั้ง ในการประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 26 เมษายนนี้ การบินไทยจะขออนุมัติผู้ถือหุ้น ตัดภาระขาดทุนสะสม ซึ่งจะไม่กระทบมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น โดยใช้สำรองตามกฎหมาย ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 การบินไทยมีขาด ทุนสะสมอยู่ที่ 28,000 ล้านบาท ก็จะช่วยเรื่องของการเพิ่มทุนที่จะเกิดขึ้นได้ และถ้าสามารถเพิ่มทุนได้สำเร็จ ก็จะทำให้สามารถดำเนิน การตามแผนจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (ตราสารหนี้ฯ) จำนวน 80,000 ล้านบาท ตามที่ผู้ถือหุ้นของการบินไทย ได้เคยอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย เผยว่าแผนการจัดซื้อฝูงบินของการบินไทย ได้ผ่านความเห็นชอบจากสศช.เป็นที่เรียบร้อย ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินในครั้งนี้ จะใช้วิธีการเช่าหรือเช่าซื้อ ซึ่งหากเป็นการเช่าซื้อ การบินไทยมีหลายวิธีที่สามารถหาแหล่งเงินมาลงทุนได้ แต่จะตัดสินใจใช้แนวทางไหนต้องพิจารณาในช่วงที่ใกล้ ๆ โดยต้องพิจารณาในเรื่องบริหารจัดการการเงินเป็นสำคัญ

“การจัดซื้อเฟสแรก 25 ลำ จะใช้เวลาราว 6 เดือน หลังครม.อนุมัติ ซึ่งจะเลือกเครื่องบินรุ่นที่เหมาะสมและทยอยรับมอบได้ในอีก 2 ปี การจัดหาฝูงบินใหม่จะทำให้การบินไทยมีภาพลักษณ์ด้านการบริการที่ดีขึ้น เพราะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของฝูงบินที่การบินไทยมีเครื่องบินเก่า ไม่ทันสมัย ทำให้มีปัญหาในการปฏิบัติการบิน การหมุนเครื่องบินที่ไม่เหมาะสม ค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มสูงขึ้น” นายสุเมธ กล่าว

ส่วนการขายฝูงบินเก่าที่ปลดระวางนั้น บอร์ดได้เห็นชอบให้ขายเครื่องบินเก่าแล้ว 20 ลำ ขณะนี้ได้ตกลงการขายกับผู้ซื้อไปแล้ว 16 ลำ รวมมูลค่าราว 4,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย แอร์บัส เอ300-500 จำนวน 2 ลำ และเอ340-600 จำนวน 6 ลำ, เอ330 จำนวน 5 ลำ, โบอิ้ง 737-400 จำนวน 1 ลำ และโบอิ้ง 747 คาร์โกอีก 2 ลำ สำหรับเครื่องบินที่รอการขายอีก 4 ลำ ประกอบด้วย แอร์บัส 300-600 จำนวน 1 ลำ แอร์บัส 340-500 จำนวน 1 ลำ และโบอิ้ง 737-400 อีกจำนวน 2 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียดเพื่อลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการชื้อขาย คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ช่วงที่รอเครื่องบินใหม่กว่า 2 ปี การบินไทยจะเช่าเครื่องบินอีก 2-3 ลำเข้ามาใช้งานในช่วง 6 เดือนนี้ เพื่อนำมาขยายจุดบินใหม่ๆ เช่น เซนได ประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะทำการบินช่วงตารางบินฤดูหนาวนี้และจุดบินสู่แมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่คาดว่าใช้เวลาอีก 1 ปีกว่าจะบินได้ และการกลับไปบินยังกรุงมาดริดประเทศสเปน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 วันที่ 21-24 เมษายน 2563