ผงะ!!!เศษเหล็กขาดเกือบ 2 ล้านตัน ชงคุมกำเนิดส่งออก

20 เม.ย. 2562 | 11:22 น.

 

     ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อเศษเหล็กภายในประเทศกลายเป็นของเสียที่หายาก แถมมีราคาสูงลิบ ถ้าเทียบกับของเสียที่มีมูลค่าชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็น ขวดแก้ว พลาสติก เศษกระดาษ ว่ากันว่าเศษเหล็กมีหลายเกรดราคาต่อตันมีตั้งแต่ 10,000-15,000 บาทต่อตัน  หรือตั้งแต่ 10-15 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่ที่เกรด  หรือคุณภาพเศษเหล็กแต่ละชนิด  ถ้าเป็นเศษเหล็กเกรดพิเศษ ที่มาจากซากรถยนต์ หรือผลิตภัณฑ์จากเหล็กที่มีคุณภาพราคาก็จะแพง ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศต่างๆเพื่อนำไปผลิตเป็นรถยนต์  หรือสินค้าคุณภาพที่ทำจากเหล็กและต้องการความแข็งแรงทนทาน

   แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเวลานี้เศษเหล็กขาดตลาด  และกำลังเป็นที่หนักอกหนักใจของบรรดาผู้ผลิตเหล็กชนิดต่างๆที่ต้องใช้เศษเหล็กมาเป็นส่วนผสมกับวัตถุดิบอื่นในขบวนการผลิต  เพราะยิ่งภาครัฐเปิดช่องให้มีการตั้งโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ Induction Furnace หรือ IF ที่ใช้เศษเหล็กจำนวนมากเป็นวัตถุดิบ ยิ่งทำให้เศษเหล็กมีความต้องการใช้ในตลาดมากขึ้น ก็มีโอกาสเพิ่มปริมาณการขาดแคลนมากขึ้นด้วย

ผงะ!!!เศษเหล็กขาดเกือบ 2 ล้านตัน ชงคุมกำเนิดส่งออก

สำหรับตัวเลขความต้องการใช้เศษเหล็กในประเทศปัจจุบันมีปริมาณกว่า 5 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่นำไปผลิตเหล็กชนิดต่างๆ เช่น เหล็กก่อสร้าง เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่นรีดร้อน แต่ภายในประเทศมีเศษเหล็กที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพียง 4 ล้านตัน  และในระบบยังขาดเศษเหล็กอยู่จำนวน 1.7 ล้านตัน

-ฟังข้อกังวลจากผู้ประกอบการ

 นายทนงศักดิ์ ภูมินา อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เปิดเผยว่า ส่วนใหญ่โรงงานผลิตเหล็กกล้าหรือบรรดาโรงเหล็กที่มีเตาหลอม จะใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ผลิต เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และเหล็กก่อสร้างที่กำลังได้รับผลกระทบ

ผงะ!!!เศษเหล็กขาดเกือบ 2 ล้านตัน ชงคุมกำเนิดส่งออก

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ก่อนหน้านี้ 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย  ร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ของประเทศ จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท ยามานากะ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ลูกอัดและเศษเหล็กไทย จำกัด มีข้อตกลงร่วมกันว่าให้มีการกำหนดปริมาณการส่งออกเศษเหล็กประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ผู้ผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมไฟฟ้าในประเทศสามารถใช้งานได้ โดยต้องควบคุมปริมาณส่งออกไม่เกินกว่า 230,000 ตันต่อปี เท่ากับปริมาณส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับจากนี้ไป

-พาณิชย์แหยงผิดกฏWTO

ทั้งนี้ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ปีก่อน กลุ่มผู้ผลิตเหล็กกล้าหรือโรงเหล็กที่มีเตาหลอมรวมตัวกันหารือกับกระทรวงพาณิชย์ถึงข้อกังวลนี้  และเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ระงับการส่งออกเศษเหล็ก โดยอาศัยเครื่องมือหรือกฏหมายที่มีอยู่ดำเนินการ หลังจากที่พบว่าเศษเหล็กในประเทศไม่เพียงพอ และยังมีการนำเข้าเศษเหล็กมากขึ้นถึง 1.7 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันกลับยังมีการส่งออกเศษเหล็กที่ใช้ได้ในประเทศอยู่ประมาณ 230,000ตันต่อปี และมีแนวโน้มว่าปริมาณส่งออกจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆหากไม่มีการควบคุมให้ดี ซึ่งผู้ค้าเหล็กก็อยากส่งออกเพราะได้ราคาขายที่ดีกว่า  แต่สุดท้ายกระทรวงพาณิชย์เสนอให้ 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยกลับไปหารือร่วมกันก่อน  โดยให้เหตุผลว่าหากไปออกมาตรการควบคุม-บังคับห้ามส่งออกเศษเหล็กจะมีปัญหาถูกร้องเรียนที่อาจเข้าข่ายผิดกฏWTOได้

ผงะ!!!เศษเหล็กขาดเกือบ 2 ล้านตัน ชงคุมกำเนิดส่งออก

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ในฐานะผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่าปัจจุบันเศษเหล็กบางส่วนที่ส่งออกมีบางชนิดที่ในประเทศใช้ไม่ได้เพราะไม่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ขณะเดียวกันในประเทศก็ไม่สามารถซื้อในราคาที่ผู้ขายส่งออกได้เพราะมีราคาสูง  และเศษเหล็กในประเทศที่ส่งออกไปส่วนใหญ่จะเป็นเศษเหล็กที่มีคุณภาพนำไปหลอมเป็นเหล็กม้วนแล้วนำมาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยราคาเศษเหล็กในประเทศถูกที่สุดอยู่ที่ 7-7.50 บาทต่อกิโลกรัมและราคาแพงสุดที่ขายในประเทศอยู่ที่ 11  บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาส่งออกจะอยู่ที่ 12-15 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านนายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการ สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เปิดเผยว่าน่าเป็นห่วงในระยะยาวที่การส่งออกเศษเหล็กจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเศษเหล็กคุณภาพดีก็จะถูกส่งออกไปหมดเพราะขายได้ราคาดีกว่าและสุดท้ายก็เหลือเศษเหล็กคุณภาพที่สู้ส่งออกไม่ได้

ปัจจุบันปัญหาในอุตสาหกรรมเหล็กมีรอบด้าน ทั้งการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองนอกจากมีข้อจำกัดและยังล่าช้าแล้ว  อีกทั้งยังมีการเปิดช่องให้เหล็กบางชนิดเข้ามาสร้างปัญหามลพิษเพิ่มขึ้น  ส่วนปัญหาการขาดแคลนเศษเหล็กไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่มองข้าม อย่างน้อยเวลานี้ก็มีสัญญาณมาแล้วว่าจะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต

สุดท้ายผู้ประกอบการต้องหันไปพึงพาการนำเข้าทำให้แบกต้นทุนหลังแอ่น เพราะยิ่งของมีน้อยก็ไปกดให้ราคาเศษเหล็กที่เหลืออยู่ในประเทศอย่างจำกัด  มีราคาแพงขึ้น ขณะที่โรงงานผลิตเหล็กชนิดต่างๆต้องแก้ปัญหาโดยหันไปนำเข้าในราคาที่สูงกว่า

เชื่อว่าลำพังผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาประกาศเจตนารมณ์ควบคุมการส่งออกร่วมกันแบบนี้ ยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ส่วนปัญหาเศษเหล็กขาดแคลนระยะยาวกระทรวงพาณิชย์ต้องงัดมาตรการคุมกำเนิดเศษเหล็กไม่ให้ส่งออก นำออกมาใช้ เพราะเวลานี้ตัวเลขขาดแคลนกำลังจ่อระดับที่ 2  ล้านตันแล้ว

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีหลายประเทศผู้ผลิตเหล็กของโลกใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก เพื่อสงวนเศษเหล็กไว้สำหรับผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นหลัก และเรียกเก็บภาษีการส่งออกเศษเหล็กในอัตราสูงถึง 40 % ซึ่งการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเศษเหล็กแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กในประเทศได้ด้วย !!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007

ผงะ!!!เศษเหล็กขาดเกือบ 2 ล้านตัน ชงคุมกำเนิดส่งออก