นิยายออนไลน์มาแรง“ฟิกชั่นล็อก’ยอดคนอ่านแตะ1ล้านคน

22 เม.ย. 2562 | 00:05 น.

      จากความชอบในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ แต่หลายปีก่อนยังไม่มีแพลตฟอร์มใดๆ ที่มารองรับความต้องการดังกล่าวในขณะนั้น มีเพียงช่องทางสำหรับการแบ่งปันรูปและวิดีโอ จึงทำให้ “ปิ๊ปโป้” หรือ “เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม “สตอรี่ล็อก (Storylog)” ต้องการที่จะสร้างพื้น ที่สำหรับแชร์เรื่องราวประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างผู้คนในโลกออนไลน์ให้เกิดขึ้น

     สำหรับสตอรี่ล็อกนั้นเรียกได้ว่าเป็น “บล็อกกิ้งแพลตฟอร์ม” ประเภทหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ก่อตั้งสตอรี่ล็อกได้ประมาณ 2 ปี ก็ได้มีการขยับขยายไปทำแพลตฟอร์ม “ฟิกชั่นล็อก (Fictionlog)” เพื่อให้บริการในรูปแบบของมาร์เก็ตเพลส หรือช่องทางสำหรับซื้อขายนิยายออนไลน์ที่เปิดให้บริการมากว่า 2 ปี โดยให้นักเขียนที่สนใจเข้ามาร่วมเขียนนิยายขาย ซึ่งนักเขียนสามารถเขียนนิยายและลงขายได้แบบบทต่อบท เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงนิยายที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนผลงานของนักเขียนได้โดยตรง

     ขณะที่ในส่วนของโมเดลรายได้นั้น ทางฟิกชั่นล็อกจะได้รับส่วนแบ่งจากนักเขียนในอัตรา 50% จากรายได้ที่นักเขียนสามารถทำได้ ซึ่งผู้เขียนสามารถตั้งราคาขายได้อย่างอิสระและจำหน่ายเป็นบทต่อบทในราคา 3-9 บาท โดยที่ผู้อ่านต้องมีการเติมเงินเป็นเหรียญทองเพื่อใช้ในการซื้อนิยายอ่าน รูปแบบคล้ายกับการซื้อสติกเกอร์ไลน์ ขั้นตํ่าคือ 35 บาทต่อ 2,400 เหรียญทอง
 

 

•นิยายออนไลน์โต 10-15%

    นายเปรมวิชช์ เผยว่า ธุรกิจประเภทนี้มองว่ายังสามารถเติบโตได้ ถึงแม้ว่าเทรนด์ของคอนเทนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ตลาดนิยายออนไลน์นั้นก็มีการเติบโตปีละกว่า 10-15% ซึ่งก็ต้องดูว่าสิ่งที่จะมาอยู่บนแพลตฟอร์มเรามีดีมานด์หรือความต้องการมากน้อยแค่ไหน ช่วงแรกที่ทำฟิกชั่นล็อกนั้นได้ไปจับดีมานด์ในฝั่งตลาดนิยายผู้ใหญ่แบบซีไรท์ แต่ก็ไม่ค่อยมีผู้อ่าน จึงได้มีการซื้อลิขสิทธิ์นิยายมาแปลเป็นไทย ทำให้มีคนอ่านมากขึ้น และทำยอดขายได้ดีขึ้น

“ในไทยก็มีแพลตฟอร์มในรูปแบบประมาณนี้หลายราย ซึ่งถ้าวัดจากยอดวิว ฟิกชั่นล็อกอาจไม่ได้สูงมากนัก เพราะก่อตั้งมานานแล้วแต่ถ้าวัดจากในแง่ของรายได้ก็เรียกได้ว่ามีการเติบโตต่อเนื่อง โดยจุดแข็งของ ฟิกชั่นล็อก คือ เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่มีจุดยืนคือการทำรายได้ให้นักเขียน ผลักดันในเรื่องคุณค่าของนิยายจริงๆ คือเน้นขาย ไม่มีให้อ่านฟรี เพื่อให้นักเขียนมีรายได้ ซึ่งเราก็พิสูจน์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะนักเขียนสามารถสร้างรายได้ตั้งแต่หลักร้อย หลักพัน ไปจนถึงหลักแสนต่อเดือน ขณะที่แพลตฟอร์มอื่นอาจจะมีการสร้างคอมมิวนิตีก่อนโดยเน้นอ่านฟรีแล้วค่อยเปิดขายทีหลังแต่สำหรับ ฟิกชั่นล็อก คือ แพลตฟอร์มในการขายนิยาย

     ทั้งนี้ปีที่ผ่านมา สตอรี่ล็อก และฟิกชั่นล็อกมีการเติบโตประมาณ 2 เท่า โดยมียอดผู้ใช้งาน เป็นประจำทุกเดือน (MAUs) ของทั้ง 2 แพลตฟอร์มอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านราย สตอรี่ล็อกมีผู้ใช้กว่า 5 แสนราย และฟิกชั่นล็อกอีกกว่า 4 แสนราย ปัจจุบันฟิกชั่นล็อกมีนักเขียนกว่า 1 หมื่นคน ขณะที่สตอรี่ล็อก มีผู้เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวแล้วเกือบ 1 แสนเรื่อง

•เปิดแผนระดมทุน

   ฟิกชั่นล็อกเรียกว่า สามารถทำกำไรได้ แต่ก็ได้มีการนำรายได้จากส่วนนี้เพื่อไปขยายบริการอื่นเช่น การนำไปต่อยอดทำซีรีส์ ท้ายสุดแล้วจะต้องมีการทดลองในหลายรูปแบบ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะไปในทิศทางไหน ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตไว้อีกเกือบเท่าตัวในแง่ของรายได้ ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานคาดว่าจะเพิ่มมากกว่า 2 เท่า โดยมีปัจจัยมาจากเรื่องของคอนเทนต์ที่ดีทำให้คนอยากอ่านและเข้ามาใช้งานคล้ายกับ ไลน์ทีวีหรือเน็ตฟลิกซ์

     ปัจจุบันฟิกชั่นล็อกยังไม่ได้มีการระดมทุนเพราะ 3 ปีที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากอุ๊คบี ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแพลนที่จะระดมทุน เนื่องจากมองว่าการระดมทุนนั้นเราต้องมั่นใจว่าจะสเกลไประดับโกลบัลได้ แต่ก็ยังทำธุรกิจเพื่อการเติบโต ด้วยจุดประสงค์และเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

•สตาร์ทอัพคือธุรกิจ

   ทั้งนี้ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น ส่วนใหญ่มักเริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยความคิดที่ว่า อยากทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อแก้ปัญหา แต่พอทำถึงจุดหนึ่งต้องอย่าลืมปรับความคิดให้สมดุลกับเรื่องของการทำธุรกิจด้วย

“เพราะท้ายที่สุดสตาร์ทอัพก็คือการทำธุรกิจ ที่จะต้องทำอย่างไรให้สามารถเติบโตได้ บางทีถ้าเป็นแบบดั้งเดิมอาจจะดีก็ได้ สตาร์ทอัพอาจจะดูใหม่ดูเจ๋งแต่จริงๆ มันก็มีกะลาครอบอยู่ ถ้าเราถอยออกมาก้าวหนึ่ง แค่มองว่ามันคือธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอาจจะทำให้มุมมองเรากว้างกว่าเดิม”

    อย่างไรก็ตามในปีนี้ คาดว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ ทั้ง 2 แพลตฟอร์มทั้ง สตอรี่ล็อกและฟิกชั่นล็อก ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อ เนื่องเท่าที่จะปรับได้ให้ดียิ่งขึ้น 

 

บทสัมภาษณ์โดย : ภาพิมล ธนรุ่งเจริญกิจ

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2562