คนกรุงกระอักขึ้นยกแผงค่าโดยสารสาธารณะ

22 เม.ย. 2562 | 00:00 น.

กลายเป็นประเด็นร้อนจนได้หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 เมื่อนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะเมื่อวันที่ 19 เมษายนขอให้ศาลไต่สวนคุ้มครองชั่วคราวเป็นการฉุกเฉิน และขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนหรือระงับการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ทั้งระบบ โดยเฉพาะรถเมล์โดยสาร (ตามรายละเอียดในอินโฟ) ตามมติเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 กรณีคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางสาธารณะทั้งรถใหม่-รถเก่าทั้งรถในสังกัดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.), รถร่วมเอกชนและรถบขส. ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายนเป็นต้นไป

คนกรุงกระอักขึ้นยกแผงค่าโดยสารสาธารณะ

กรณีนี้นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการ ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าที่ผ่านมารัฐบาลชะลอโครงการปรับขึ้นค่าโดยสารเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ สนับสนุนการใช้รถสาธารณะในช่วงที่เกิดปัญหาฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ทั้งนี้ไม่เฉพาะปรับขึ้นรถเมล์โดยสารเท่านั้นกรมการขนส่งทางบกยังจ่อคิวเสนอปรับค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการปรับราคา ส่วนรถไฟและรถไฟฟ้ายังไม่มีการปรับราคา เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการที่อยู่ระหว่างกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด

สอดคล้องกับนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า หากได้รถใหม่จะปรับราคาเป็น 3 ระยะคือ 15-20-25 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำเรื่องนำเสนอกรมการขนส่งทางบกพิจารณา ซึ่งกรณีปรับค่าโดยสารพบว่าได้มีการเตะถ่วงเวลามาตั้งแต่ปี 2558 ประการสำคัญมีการปรับค่าจ้างแรงงานมาแล้วหลายครั้งแต่ค่าโดยสารกลับไม่มีการปรับเพิ่มให้สอดคล้องกันจนผู้ประกอบการแบกรับภาระกันหนักมากในปัจจุบัน

ดังนั้นคนกรุงเทพมหานครคงต้องลุ้นว่ารัฐบาลคสช.จะประกาศ ทิ้งทวนปรับค่าโดยสารรถเมล์ตามมติดังกล่าวหรือยกให้รัฐบาลใหม่พิจารณา นอกจากนั้นยังจ่อคิวให้รัฐบาลใหม่ไฟเขียวปรับค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะอีกหลายรายการ ที่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ...

รายงาน | หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2562

คนกรุงกระอักขึ้นยกแผงค่าโดยสารสาธารณะ