เปลี่ยนวิธีคิด สร้างสรรค์งานดนตรี แข่งกับโลกยุค Disruptive

20 เม.ย. 2562 | 03:05 น.

งานดนตรี หรืองานในแวดวงบันเทิง เมื่อก่อนคนจะมองว่า เป็นอีกหนึ่งธุรกิจเสือนอนกิน ที่หากมีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับในตลาด ทำอะไรมาก็ขายได้ และสามารถขายได้เรื่อยๆ แต่ในโลกของความเป็นจริงวันนี้ “หนึ่ง - จักรวาล เสาธงยุติธรรม” นักดนตรี โปรดิวเซอร์ และมิวสิกไดเร็กเตอร์ แถวหน้าของประเทศ ที่คนรู้จักหน้าค่าตาเขามากๆ จากรายการ เดอะ มาสก์ ซิงเกอร์ หน้ากากนักร้อง ของช่องเวิร์คพอยท์ บอกเลยว่า หากไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ก็อาจจะไม่สามารถอยู่รอดในอาชีพของตัวเองได้ เปลี่ยนวิธีคิด  สร้างสรรค์งานดนตรี  แข่งกับโลกยุค Disruptive

“หนึ่ง - จักรวาล” บอกว่า เขาเป็นนักดนตรีที่เคยเล่นให้กับนักร้องดังๆ มามากมาย แต่ในยุคที่ชื่อเสียงยังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีใครจำเขาได้ เขาเล่าย้อนไปว่า เขาเป็นเด็กสลัมคลองเตย ที่เรียนจบจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ เพราะมีความชื่นชอบดนตรีมาตั้งแต่จำความได้ และได้รับการหล่อหลอมมาจากคุณพ่อ ที่สอนให้เขารู้จักเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ กระป๋อง 2 ใบ กับการตีให้ออกมาเป็นจังหวะ และการใช้ชามตราไก่ใส่นํ้า วางเรียงกัน เคาะให้ออกมาเป็นเสียงโน้ตเพลงต่างๆ และด้วยความชื่นชอบ และสนใจส่วนตัวใน
เปียโน ทำให้เขาใช้ทักษะครูพักลักจำ เรียนรู้เอง ในสมัยที่เรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ ซึ่งช่วงนั้นกลับได้เรียนไวโลลินเป็นเครื่องดนตรีประจำตัว

“ผมไม่มีเครื่องมือเล่นดนตรี ไม่มีคีย์บอร์ด ผมเรียนจากการใช้หูฟัง โดยที่พ่อสอนทุกเพลง ให้เราจินตนาการ เลือกคิด และฟังเอา การเล่นดนตรีทุกครั้ง ผมใช้วิธีการแกะเพลง ใช้วิธีการฟัง โดยไม่รู้ใช้โน้ต ใช้นิ้ว หรือใช้คอร์ดถูกหรือเปล่า ระหว่างเรียนไวโอลีน 2 ปี ผมแอบซ้อมเปียโน แอบเล่นเอง เพราะกฎของนาฏศิลป์ คือ ห้ามจับเครื่องมือดนตรีที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่ผมใช้วิธีดื้อ พยายามซ้อมด้วยตัวเอง”

สิ่งที่หล่อหลอมให้เป็น “หนึ่ง - จักรวาล” นักดนตรีที่มีชื่อเสียง และมีรายได้ดี อยู่ในระดับแนวหน้าในวันนี้ เกิดจากความพยายาม และทักษะที่ลองทำ ลองเล่นจริงๆ เขาบอกเลยว่า สิ่งที่ได้จากโรงเรียน คือการเรียนรู้ว่าดนตรีไทยเป็นแบบนี้ เพราะได้ฟังดนตรีไทยทุกวัน แต่ไม่ใช่การเป็นนักดนตรี เรื่องของดนตรีไทยที่ได้ในวัยเรียน นั่นคือ เขานำมาพัฒนาเปิดเป็นโปรเจ็กต์พิเศษ ที่ชื่อว่า The Mask Line Thai (เดอะมาสก์ลายไทย) ซึ่งเป็นการรวมเอาเครื่องดนตรีไทย และสากล ส่วนเรื่องของเปียโน และการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่นำมาต่อยอดทุกวันนี้ อยู่ที่การลองทำ และกล้าที่จะเปลี่ยนความคิดทำสิ่งใหม่ๆ

ความตั้งใจของผู้ชายคนนี้ คือ การเล่นดนตรีให้ดี ไม่เพียงแต่เล่นดนตรีได้ เพราะถ้าทำแค่เล่นได้ ก็จะไม่มีความแตกต่าง และจะอยู่แค่ในกรอบ ที่นักดนตรีคนไหนๆ ก็ทำได้ และอีกสิ่งสำคัญที่เขาคิดควบคู่ไปด้วยกัน คือ การเล่นดนตรีให้สามารถหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องและเลี้ยงครอบครัวได้ แต่เมื่อถึงยุคที่วงการดนตรีและเพลงถูก ดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี คนฟังสามารถดาวน์โหลดเพลงมาฟังได้โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อซีดีอีกต่อไป นักดนตรีก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เดือดร้อน สิ่งที่นักดนตรีคนนี้ทำ คือ การสร้างความต่าง

“ผมซ้อมเยอะมาก ผมพยายามคิดเลียนแบบเครื่องดนตรีทุกอย่าง เมื่อธุรกิจดนตรีมันแย่ลง เงินน้อย เขาไม่มีตังค์จ้างนักดนตรี ผมก็ต้องศึกษา จากการเป็นนักเปียโน เราจะทำอย่างไรให้ตังค์อยู่กับเราเล่นเปียโนโดยที่เล่นกีตาร์ไม่เป็น แต่จะทำอย่างไรให้เล่นเปียโนเป็นกีตาร์ได้ แล้วผมก็ทำได้สำเร็จ ...เงินทุกบาททุกสตางค์ก็อยู่ที่ผม”

“คุณหนึ่ง” เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ และสิ่งที่เขาทำได้ ไม่เพียงแค่ทำให้เปียโนมีเสียงกีตาร์ แต่ยังทำให้เป็นเสียงระนาด เสียงแอคคอร์เดียน และอื่นๆ โดยแนวคิดในการสร้างงานของผู้ชายคนนี้ เขาคิดว่า เพลงสามารถสร้างความแตกต่างได้ ในแต่ละบรรยากาศ แต่ละอารมณ์ เพียงแค่การเปลี่ยนวิธีคิด กล้าตีความเพลงไปในแนวใหม่ๆ และกล้าทำ ก็ทำให้ได้งานดนตรีที่หลากหลายและแตกต่าง โดยที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ ซึ่งวิชานี้ไม่มีสอนที่ไหนในโลก แต่อยู่ที่ความกล้าคิด กล้าทำ ของแต่ละคน ผนวกกับทักษะ และความหมั่นซ้อม และวิธีเหล่านี้ คือ เส้นทางที่ทำให้เขาสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเอง และสามารถหนีจากการถูกดิสรัปต์ของวงการดนตรีได้สำเร็จ 

หน้า 18 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562