กำลังภายในครอบครัว

23 เม.ย. 2562 | 09:12 น.

การทำธุรกิจครอบครัวนั้นไม่ได้ง่ายเสมอไปเนื่องจากมีปัญหามากมายทั้งความขัดแย้งภายใน ความไม่มีมาตรฐานและข้อผิดพลาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากคณะกรรมการบริหารที่เป็นคนกันเอง แต่ธุรกิจครอบครัวที่มีประสิทธิภาพก็มีข้อได้เปรียบเช่นกัน โดย John L. Ward นักวิชาการด้านธุรกิจครอบครัวและผู้อำนวยการร่วมศูนย์ธุรกิจครอบ ครัวแห่ง The Kellogg School วิเคราะห์ ว่าการที่ครอบครัวมีความเป็นเจ้าของธุรกิจถือเป็นจุดแข็งอย่างยิ่ง ซึ่งจุดแข็งนี้มีที่มาจากความสามารถในการสร้างวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยค่านิยมซึ่งหล่อหลอมความเป็นธุรกิจครอบครัวเอาไว้ เนื่องจากการมีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน และมีวิสัยทัศน์ เป้าหมายและมรดกร่วมกันนั่นเอง ทั้งนี้สำหรับในทุกองค์กรธุรกิจล้วนมีการสร้างวัฒนธรรมแห่งชัยชนะอยู่แล้ว เปรียบเสมือน “กำลังภายในครอบ ครัว” โดยครอบครัวจะสามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ดังนี้

1. การมีมุมมองในระยะยาว ขณะที่คู่แข่งที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกำไร แต่ธุรกิจครอบครัวขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ไปชั่วลูกชั่วหลาน ทั้งนี้เนื่องจากมีระยะเวลาในการลงทุนนานกว่าจึงสามารถอดทนและมีความเสี่ยงที่ยอมรับได้มากกว่าและสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ ซึ่งทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถทำในสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาได้มากกว่า เช่น ลงทุนกับกลยุทธ์เป็นเวลาหลายปีก่อนที่จะเห็นผลตอบแทนใดๆ ขณะที่ธุรกิจทั่วไปส่วนใหญ่จะไม่ลงทุน 3-5 ปีก่อนที่คาดหวังผลตอบแทน เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อ จำกัดก็มี เช่น มุมมองระยะยาวอาจทำให้เกิดวัฒนธรรมการส่งเสริมที่ไร้ประสิทธิภาพ การขาดวินัยและผลการดำเนินงานที่ไม่ดี ซึ่งธุรกิจครอบครัวควรระมัดระวังไม่ให้ตกหลุมพรางนี้ โดยอาศัยคณะกรรมการอิสระช่วยทำหน้าที่ตรวจสอบความเป็นจริงโดยจะให้มุมมองที่เป็นจริงต่อความเป็นเจ้าของและภาวะผู้นำของครอบครัว 

กำลังภายในครอบครัว

2. การดึงคนนอกเข้ากลุ่ม พ่อแม่ ลูก พี่น้องและญาติที่อาจควบคุมกิจการธุรกิจครอบครัวอยู่มักจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ซึ่งความผูกพันเหล่านี้จะกำหนดและสร้างวัฒนธรรมในช่วงแรกของธุรกิจ จนอาจแยกไม่ออกกับชีวิตครอบครัว อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นย่อมจำเป็นต้องจ้างคนที่มีความสามารถมากกว่าสมาชิกในครอบครัว แต่เนื่องจากวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณะเฉพาะอาจเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนที่จ้างมาใหม่ ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจะเอาใจใส่เป็นพิเศษกับพนักงานใหม่เหล่านี้ รวมถึงวิธีในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วย อนึ่งธุรกิจครอบครัวที่ฉลาดจะสร้างทีมผู้นำที่สร้างความสมดุลและแนวคิดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการกำหนดแนวทางสำหรับองค์ประกอบของทีมผู้บริหารระดับสูง เช่น กำหนดเป้าหมายให้สมาชิกในครอบครัวมีสัดส่วนเท่าเทียมกัน พนักงานอยู่ได้ยาวนานและผู้นำคนใหม่มาจากภายนอกบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ควรพยายามสร้างพื้นที่สำหรับพนักงานใหม่โดยการแบ่งแยกหน้าที่ในบริษัทที่กำลังเติบโต เช่น หากบริษัทมีหัวหน้าฝ่ายขายและการตลาดมานานแล้วก็อาจนำพนักงานใหม่เข้ามาทำหน้าที่ด้านการตลาด หรือหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่มีประสบการณ์ยาวนานอาจนำผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมคุณภาพเข้ามาช่วย เป็นต้น ทั้งนี้มีหลายวิธีที่สามารถจัดหาตำแหน่งให้คนทำงานได้ไม่ซํ้าซ้อนกัน ซึ่งวิธีนี้จะสร้างกลุ่มคนที่กำลังเข้ามาในองค์กร ได้อย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ได้ผลักไสผู้บริหารรุ่นก่อนออกไป อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการบ่งชี้ ดึงดูดและคัดเลือกคนใหม่ๆ เข้ามาเป็นพนักงานและคณะกรรมการมักเป็นกระบวนการที่ทำได้ยาก หากแต่เมื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเรื่อง ยากที่จะรักษาคนเหล่านี้เอาไว้

กำลังภายในครอบครัว

3. สร้างความใกล้ชิดระหว่างสมาชิกในครอบครัว ความท้าทายที่สุดในการรักษาวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จคือการที่ครอบครัวห่างเหินจากธุรกิจของตัวเอง เนื่องจากเมื่อครอบครัวและธุรกิจเติบโตขึ้นระยะห่างระหว่างสมาชิกก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยความสนิทสนมของครอบครัวอาจลดลงได้ไปตามกาลเวลาเมื่อครอบครัวอายุยาวนานและขยายใหญ่ขึ้นและสมาชิกในครอบครัวกระจายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเมื่อครอบครัวกระจายออกไปอยู่ในประเทศอื่นๆ วิสัยทัศน์ร่วม และวัฒนธรรมที่สร้างขึ้นมาจะเสี่ยงต่อการหายไป อย่างไรก็ตามการมีธุรกิจครอบครัวถือเป็นโอกาสดีสำหรับครอบครัวที่จะได้อยู่ด้วยกัน ในขณะที่ธุรกิจเติบโตขึ้นบริษัททั่วไปอาจอยากที่จะแยกตัวเองออกเป็นหน่วยเล็กๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ธุรกิจครอบครัวมักจะพยายามอยู่รวมกันเพราะมองว่าธุรกิจเป็นมรดกหรือเจตจำนงมากกว่าการรวบรวมทรัพย์สิน แต่การรักษาวิสัยทัศน์ที่เป็นหนึ่งเดียวก็อาจทำได้ยาก ดังนั้นเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน อาจใช้ครอบครัวเป็นที่ประชุมด้านการศึกษาของบริษัท รวมถึงการเยี่ยมชมเครื่องไม้เครื่องมือสิ่งอำนวยความสะดวกของบริษัทเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้สัมผัสกับการทำงานภายในองค์กร วัฒนธรรมและอาคารสถานที่ของบริษัท นอกจากนี้ยังอาจใช้สิ่งพิมพ์ เฉพาะ เช่น จดหมายข่าวเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและส่งเสริมการเชื่อมต่อกับธุรกิจอีกด้วย  

อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่แท้จริงคือการสร้างโอกาสให้กับสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจให้รู้สึกใกล้ชิดกับธุรกิจเพื่อที่จะรับรู้ถึงความยินดีและสิทธิพิเศษของตนเอง และในระยะยาวยังควรมุ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวเพื่อการเติบโตต่อไป 

คอลัมน์ | หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21-24 เมษายน 2562

กำลังภายในครอบครัว