Brexit ปัญหายืดเยื้อของสหภาพยุโรป

20 เม.ย. 2562 | 04:00 น.

บทความฉบับนี้คงจะเป็นบทความฉบับสุดท้ายที่ผมจะเขียนในระหว่างที่ผมยังคงอยู่ในประเทศอังกฤษ เนื่องจากผมได้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายจากที่อังกฤษเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องที่จะนำเสนอในครั้งนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ผมตามเกาะติดมาตลอดช่วงกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่อง Brexit

เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วที่ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของ UK เลือกที่จะแยกตัวออกจาก EU นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2016 แต่จนถึงบัดนี้ซึ่งเกินกว่ากำหนดระยะเวลาที่ UK จะแยกตัวจาก EU แล้ว แต่การแยกตัวก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามเวลาที่ได้กำหนดไว้แต่อย่างใด เนื่องจาก EU ได้อนุญาตให้ UK ขยายระยะเวลาในการแยกตัวออกไปจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2019 หรือนับจากตอนนี้ก็จะเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน

Brexit  ปัญหายืดเยื้อของสหภาพยุโรป

หากพิจารณาตามกฎหมายของ EU การขยายระยะเวลาต่อออกไปดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ EU จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปขึ้นในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นเมื่อ UK ยังไม่ได้มีการแยกตัวออกจาก EU การจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภายุโรปของ UK ก็คงจำเป็นต้องจัดให้มีขึ้น แม้ยังไม่รู้ว่าอนาคตหลังจากเดือนตุลาคมไปแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ในฐานะที่ UK ยังคงสถานภาพความเป็นสมาชิก EU อยู่ การปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของ EU ก็คงยังเป็นเรื่องจำเป็น

และหากจะมองจากท่าทีของ นายโดนัลด์ ทุสก์ ประธานสภายุโรป จะเห็นได้ว่า EU ได้พยายามจะเสนอแนะให้ UK ลองกลับมาพิจารณาถึงอีกทางเลือกที่ UK ไม่ได้ให้ความสนใจ นั่นก็คือ การยกเลิกมาตรา 50 (การยกเลิกการแยกตัวออกจาก EU) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเหมือนมีนัยว่า EU เองก็ไม่อยากให้ UK แยกตัวออกไปจาก EU

อย่างไรก็ตามเมื่อ UK ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไป ประกอบกับเป็นช่วงที่ UK ต้องเลือกผู้แทนสภายุโรปตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น คำถามที่เกิดขึ้นคือ แล้วมหากาพย์เรื่องนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร

หากพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้วการแก้ปัญหาของ UK สำหรับเรื่องนี้ยังมีทางเลือกเดิมๆ ตามที่เคยได้กล่าวมาในบทความหลายฉบับก่อนหน้านี้ นั่นคือ UK คงจะขอกลับเข้าสู่เวทีเจรจาอีก หรืออาจจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือแม้กระทั่งการจัดให้มีการลงประชามติในเรื่องนี้ใหม่ แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้ในสภาฯ ของ UK การที่จะไม่ปฏิบัติตามผลของการจัดทำประชามติในปี 2016 ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เป็นได้ยาก 

Brexit  ปัญหายืดเยื้อของสหภาพยุโรป

โดยเฉพาะเมื่อตอนนี้การเมืองภายในประเทศได้มีเสียงแตกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจนในจำนวนที่ใกล้กันมาก การเลือกที่จะใช้วิธีการตามที่ประธานสภายุโรปเสนอ ซึ่งภายใต้บริบทของ UK ในขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงมากว่าวิธีการดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหามากกว่าจะเป็นทางออกของปัญหา

เมื่อมาพิจารณาสิ่งที่อาจจะมีความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดขึ้นรวมถึงผลที่จะตามมา จะเห็นได้ว่าสิ่งอาจมีความเป็นไปได้มากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงเกมการเมืองที่พรรคอนุรักษ์นิยมที่เป็นพรรคของรัฐบาลใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการพยายามให้การบริหารจัดการปัญหาเรื่องนี้เป็นภายใต้อำนาจของพรรค ดังนั้นเมื่อข้อเสนอที่ นายกฯเทเรซา เมย์ ได้พ่ายแพ้ต่อสภาฯ ถึง 3 ครั้ง ดังนั้น จุดนี้อาจจะมาถึงเวลาที่พรรค อนุรักษ์นิยมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล จากนายกฯ เมย์ ไปเป็นผู้แทนราษฎรสักคนที่มาจากพรรคเดียวกัน

โดยจากผลของการจัดทำโพลล์แล้ว ปัจจุบันคนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในพรรคอนุรักษ์นิยมถึง 77% ซึ่งอาจจะมาเป็นผู้นำรัฐบาลคนใหม่แทนนายกฯเมย์ หากจัดให้มีการเลือกตั้ง (national election) นั่นก็คือ นายบอริส จอห์นสัน เพื่อนร่วมชั้นเรียนของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ทางเลือกนี้ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเรื่อง Brexit ผ่านพ้นไปได้โดยเร็ว และโดยความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน หากนายกฯเมย์ เลือกที่จะลงจากตำแหน่ง และได้นายจอห์นสัน มาทำหน้าที่แทน ดูเหมือนว่าแนวโน้มของปัญหาในเรื่องนี้จะมีมากขึ้นมากกว่าเป็นการช่วยลดปัญหา

ทั้งนี้ผู้เขียนได้แต่หวังว่ารัฐบาล UK จะใช้เวลาในช่วงที่ได้รับการขยายออกไปนี้อย่างเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะความเป็นผู้นำ ขอให้รัฐบาลเลือกทำในสิ่งที่จะก่อให้เกิดผล กระทบให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เมื่อเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาชั่วคราวเกี่ยวกับการแยกตัวของ UK ได้รับการยืนยันแล้วจากประธานสภายุโรป อย่างน้อยที่สุดความตึงเครียดของประชาชนทั้งใน UK และ EU ก็ได้ลดความตึงเครียดลงแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม

ดังนั้นในฉบับต่อๆ ไปผมจึงจะขอกลับมานำเสนอประเด็นกฎหมาย อื่นๆ ที่เป็นเรื่องใกล้ตัว หรืออาจเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับสังคมไทยในช่วงนี้ ซึ่งทุกท่านสามารถที่จะติดตามอ่านได้ในคอลัมน์นี้ต่อไปนะครับ  

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3463 ระหว่างวันที่ 21 - 24 เมษายน 2562

Brexit  ปัญหายืดเยื้อของสหภาพยุโรป