ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์

19 เม.ย. 2562 | 03:00 น.

นอกจากเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชา ซึ่งพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในวันที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ชุดครุยหรือฉลองพระองค์สีทองอร่าม ที่ดูสง่างาม ลวดลายวิจิตรบรรจง มีชื่อเรียกว่า “ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์” หรือ “ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนไทยให้ความสนใจ ซึ่งปวงชนชาวไทยจะได้เฝ้าชมพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เต็มยศ ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 หลังทรงรับน้ำอภิเษก 

ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์

ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ หรือพระราชทานสำหรับพระราชวงศ์ ตลอดจนขุนนางและข้าราชการ ใช้สวมใส่เมื่อเข้าร่วมในงานพระราชพิธีที่สำคัญ โดยฉลองพระองค์ครุยพระราชวงศ์ จะมีเพียงรูปแบบเดียวเท่านั้น ต่างจากครุยแบบอื่นๆ 

ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ของพระมหากษัตริย์ มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทรงใช้สวมทับเป็นฉลองพระองค์ชั้นนอก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

ที่ผ่านมา ผ้าที่นิยมใช้ในการทำฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์มีหลายชนิด และที่สำคัญคือ ผ้ากรองทอง ผ้าที่เกิดจากการนำเส้นลวดทองหรือไหมทอง มาถักประกอบกันเป็นผืนผ้า ปักทองลายก้านแย่งหรือพื้นสีสลับทองหรือขาวสลับทอง มีสีดำรดขอบ สำรดต้นพระกร ปลายพระกร และสำรดฉลองพระองค์ครุยนั้น พื้นกรองทอง ปักทองหรือใช้ทองเส้นหยาบ ขลิบลูกไม้ทอง และที่สำคัญ นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ฉลองพระองค์ครุยพระมหากษัตริย์ ยังมีน้ำหนักมากถึง 7-8 กิโลกรัม

ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ ใช้เส้นทอง เส้นเงิน ที่เรียกว่า ทองแล่ง เงินแล่ง ซึ่งหมายถึง ทองคำหรือเงิน ที่เอามาแล่งเป็นเส้นบางๆ ใช้สำหรับปักหรือทอผ้า ปักเป็นลวดลายบนผ้าโปร่ง ลวดลายที่ปักจะเป็นอย่างใดนั้น ไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ส่วน “ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรี” ผู้ใช้ชื่อ t_2539 ในอินสตาแกรม ระบุว่า สร้างขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงฉลองพระองค์ครุยนี้จนถึงปีที่ 60 แห่งการครองราชย์ จึงมีการจัดสร้างฉลองพระองค์ครุยองค์ใหม่ขึ้น ด้วยเพราะพระชนมายุมากขึ้น ฉลองพระองค์ครุยองค์ใหม่มีน้ำหนักเบากว่าและโปร่งกว่า ฉลองพระองค์ครุยองค์แรก จึงเก็บเป็นประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน เมื่อคราวมีงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทูลขอสิ่งของพระราชทานเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ไปจัดแสดง ฉลองพระองค์ครุยนี้ถูกส่งไปเป็นตัวแทนของสยามประเทศ เป็นที่สนใจของชาวต่างชาติมาก เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และความชื่นชมต่อคุณค่าความศรัทธาของปวงชนชาวไทย (เครดิต คุณKwanjit)

ฉลองพระองค์ครุยของพระมหากษัตริย์ แต่เดิมไม่ทราบว่าลวดลายเป็นอย่างไร จนเมื่อมีการถ่ายภาพในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะทรงฉลองพระองค์ครุยไว้ แต่ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ยังคงเรียกตามวัสดุและลวดลายที่ปักลงบนฉลองพระองค์ครุย เช่น ฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ปักเป็นรูปเพชราวุธอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์

รัชกาลที่ 1 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง 

รัชกาลที่ 2 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยพื้นแดงกรองทอง

รัชกาลที่ 3 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยปักทองแล่ง

รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เรียกเพียงฉลองพระองค์ครุย 

รัชกาลที่ 6 เรียกว่า ฉลองพระองค์ครุยกรองทองริ้วปัตหล่า [ปัด-ตะ-หฺล่า]

ในแต่ละรัชกาลทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยหลายองค์ มิได้ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยเพียงองค์เดียว

ฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ฉลองพระองค์ครุยที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงใช้ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับฉลองพระองค์ครุยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกองค์หนึ่ง แต่ลวดลายต่างกัน ต่อมาโปรดให้สร้างฉลองพระองค์ครุยขึ้นใหม่ ปักลวดลายเป็นรูปจักรกับตรีอยู่ในกรอบพุ่มข้าวบิณฑ์ทั้งองค์ วัสดุที่ใช้ปักคือทองแล่ง

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,462 วันที่  18 - 20  เมษายน พ.ศ. 2562