คลังชี้โพรงรัฐ ดึงงบฉุกเฉิน พยุงเศรษฐกิจ

18 เม.ย. 2562 | 08:11 น.

กระทรวงการคลัง ระบุลดภาษีกระตุ้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย เผยดึงเงินแบงก์รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจอาจติดล็อกกฎหมายวินัยการเงินการคลัง เสนอดึงงบฉุกเฉิน ในมือนายกฯมาใช้แทน

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยังไม่ได้เสนอมาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
ให้กระทรวงการคลังพิจารณา แต่เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับรายได้ที่รัฐสูญเสียไป ดังนั้นก่อนที่จะมีมาตรการใดออกมาต้องพิจารณาต้นทุนที่ลงไปกับสิ่งที่ได้รับกลับมาอย่างรอบคอบว่าคุ้มค่ากันหรือไม่ ซึ่งจะต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาว่ามีแหล่งเงินไหนที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายประสงค์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกัน จึงต้องรอนโยบายจากรัฐบาลก่อนว่าจะเอาอย่างไร ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเช่นกันว่าจะขัดกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการเสนอมาที่กระทรวงการคลังเช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณางบประมาณที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจปรากฏว่า พบว่าการนำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 มีข้อจำกัดตามมาตรา 28 ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กรณีการ นำเงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ภายหลังขณะนี้มีกรอบวงเงินเหลืออยู่เพียง 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามยังมีงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนที่อยู่ในอำนาจการอนุมัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี เหลืออยู่ สามารถนำมาใช้ได้ แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะนำมาใช้ในโครงการใด เพราะงบประมาณในส่วนนี้จะเป็นงบที่ตั้งไว้ใช้ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าที่สำคัญด้านการใช้จ่าย 2 ปีที่ผ่านมานั้น โดยเฉพาะไตรมาส 4 ของปีก่อนมีเม็ดเงินพิเศษเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มกำลังซื้อสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยตั้งข้อสังเกตว่าไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 นี้ ถ้าเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่เท่าเดิมวงเงินประมาณ 3.25 หมื่นล้านบาท อาจทำให้การบริโภคชะลอ โดยส่วนตัวมองว่ารัฐบาลใหม่คงจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ไม่ว่าพรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ เบื้องต้นอาจจะเป็นวงเงินประมาณ 3.25 หมื่นล้านบาท

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่จะเห็นภายหลังการเลือกตั้ง คือ รัฐบาลใหม่จะเข้ามาผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจระยะสั้น โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเพิ่มสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ประมาณ 14.5 ล้านคน มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 15.6 ล้านคน และมาตรการหักลดหย่อน ภาษี 10.3 ล้านคน โดยคาดว่าภาย ในไตรมาสที่ 4 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบราว 2-3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 0.2-0.4% ของจีดีพี

ทั้งนี้ ภายใต้กรอบจีดีพี 3.2-3.9% โดยกรอบล่างอยู่ที่ 3.2% ภายใต้กรณีที่รัฐบาลจัดตั้งได้ล่าช้า ซึ่งกระทบการเบิกจ่าย และนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยกรอบบนอยู่ที่ 3.9% จะมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.3% และครึ่งปีหลังอยู่ใกล้ระดับ 4% และไตรมาสที่ 1 ขยายตัวอยู่ที่ 3.5% ทั้งนี้ที่รัฐบาลใหม่ต้องเผชิญจะเป็นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นจะเห็นการทำมาตรการกระตุ้นระยะสั้นฐานรากควบคู่กับการจัดทำงบประมาณปี 2563 ด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

คลังชี้โพรงรัฐ  ดึงงบฉุกเฉิน  พยุงเศรษฐกิจ