ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน! ปกป้องอธิปไตยทางศาล

17 เม.ย. 2562 | 10:20 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน!  ปกป้องอธิปไตยทางศาล
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน!  ปกป้องอธิปไตยทางศาล

  ประชาชนไทยทั้งหลาย จึงต้องสามัคคีกัน เพื่อร่วมกันปกป้องอำนาจและอธิปไตยทางศาล และเอกราชอธิปไตยของชาติในทุกๆด้าน

ยุคสมัยแห่งการล่าอาณา นิคมของพวกลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ฝรั่งเศส อังกฤษ และประเทศมหาอำนาจในยุโรป ที่แผ่อิทธิพลเข้ามารุกรานภูมิภาคเอเชีย ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อปี 2398 ประเทศสยามในยุคนั้น บรรพบุรุษของไทยต้องขมขื่นมากมายเพียงใด ที่จะต้องต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคม เพื่อปกป้องรักษาเอกราช อธิปไตย บูรณภาพเหนือดินแดนของราชอาณาจักร เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ให้พวกเราลูกหลานไทย ได้มีแผ่นดินอยู่อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี มิให้ประเทศชาติของเราต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น

ความชอกชํ้าและขมขื่นจิตใจที่สุด ของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองแผ่นดินสยาม ในยุคนั้นก็คือ ความตกลงตามสนธิสัญญาที่สยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันที่จำต้องร่วมลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerces) หรือเรียกว่าสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2398 และต้องถูกบังคับให้ใช้สนธิสัญญาดังกล่าวประดุจว่าเป็นกฎหมายภายใน ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเอกราชทางศาล ซึ่งการสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางศาลดังกล่าว เราต้องยอมให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial Rights) หมายถึง สิทธิพิเศษทางกฎหมาย ซึ่งอังกฤษสามารถบังคับใช้กฎหมายของประเทศตน ต่อบุคคลในบังคับของอังกฤษในดินแดนของสยามประเทศได้ พูดง่ายๆ ก็คือ คนต่างชาติทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลไทย ประเทศไทยไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีลงโทษพวกต่างชาติ ที่กระทำความผิดต่อกฎหมายไทยได้

ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน!  ปกป้องอธิปไตยทางศาล
ข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าว ได้ระบุไว้ในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่ลงนามในปี 2398 ดังนี้ “สยามให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯและให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่คนในบังคับอังกฤษ กงสุลอังกฤษเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ ทั้งคดีแพ่งและอาญาซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลย โดยกงสุลจะลงโทษตามกฎหมายอังกฤษ ส่วนคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นโจทก์และคนไทยเป็นจำเลยนั้น ให้ขึ้นศาลไทยซึ่งเป็นผู้พิจารณาลงโทษตามกฎหมายไทย ในกรณีนี้ กงสุลอังกฤษจะเข้าไปร่วมทั้งการพิจารณาตัดสินได้”

 

อันเป็นข้อสนธิสัญญาข้อหนึ่งที่ทำให้สยามไร้สิ้นซึ่งเอกราชทางศาล นอกเหนือจากข้ออื่นๆ ไม่ว่าในทางการค้าหรือการเก็บภาษีอากร ก็ล้วนแต่เอารัดเอาเปรียบไทยทั้งสิ้น ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบเป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมามหาอำนาจตะวันตกประเทศ อื่นๆ ต่างก็เอาอย่างตามอังกฤษ บีบบังคับให้ไทยทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกัน เช่น ฝรั่งเศส (พ.ศ.2389) สหรัฐอเมริกา (พ.ศ.2399) เดนมาร์ก โปรตุเกส ฮอลันดา ในปีต่อๆ มา

ประเทศไทยโดยบรรพบุรุษของเรา ได้พยายามต่อสู้เจรจาขอยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้มาโดยตลอด แต่หลายประเทศก็ต่อรองว่าจะเลิกอย่างเด็ดขาดต่อเมื่อประเทศไทย ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้วเป็นเวลา5 ปี ซึ่งในปี 2477 ประเทศไทยจึงได้จัดทำประมวลกฎหมายได้สำเร็จและได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนบริบูรณ์ใน พ.ศ. 2478 แต่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตยังคงมีอยู่ต่อไปอีก 5 ปี ภายหลังใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วน รัฐบาลไทยขอยกเลิกเป็นผลสำเร็จได้ก็ในปี 2480
 

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีความพยายามเจรจาเพื่อยกเลิกเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต โดยรัฐบาลไทยต้องยอมยกสี่รัฐมาลัย (ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส) ตลอดจนเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษจึงยอมให้คนในบังคับมาขึ้นศาลไทย โดยมีที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมพิจารณาคดี แต่ศาลกงสุลยังมีอำนาจนำคดีไปพิจารณาได้ จนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสยามบังคับใช้ประมวลกฎหมายตามแบบสมัยใหม่ ในปี 2470 พวกลัทธิจักรวรรดินิยม จึงได้ยินยอมลงนามแก้ไขสนธิสัญญา

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน!  ปกป้องอธิปไตยทางศาล

ที่กล่าวมาทั้งหมดโดยสรุปนี้ ก็เพื่อจะบอกกล่าวแก่พี่น้องชนชาวไทยผู้รักชาติ รักและหวงแหนแผ่นดินไทยทั้งหลายว่า กว่าบรรพบุรุษของไทย โดยเฉพาะบูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ได้ทรงต่อสู้ปกป้องเอกราช อธิปไตย รักษาชาติบ้านเมืองของเรา มาด้วยความยากลำบากแสนเข็ญเพียงใด ประเทศเราต้องถูกพวกลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก รุกรานกระทำยํ่ายีมาแล้วอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชและอธิปไตยทางศาล เพื่อให้ประเทศชาติของเรา มีการบังคับใช้กฎหมาย และมีกระบวนการยุติธรรมของตนเยี่ยงประเทศเอกราชทั้งหลายนั้น เราต้องแลกมาด้วยการสูญเสียดินแดนด้วยความชอกชํ้าขมขื่นจิตใจเพียงใด ควรที่พี่น้องชนชาวไทย จะต้องร่วมมือกันปกป้องรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ มิให้พวกลัทธิจักรวรรดินิยม และพวกมหาอำนาจฝ่ายตะวันตก มากระทำยํ่ายีกับแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนอีกต่อไป
ข้าพระบาท ทาสประชาชน : ประชาชนไทยต้องสามัคคีกัน!  ปกป้องอธิปไตยทางศาล

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยดังกล่าว ผ่านมาแล้วเกือบ 200 ปี ปัจจุบันคือยุค พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 แล้วครับ ลัทธิจักรวรรดินิยมเก่าหลายประเทศต่างล้มหายตายจากสาบสูญไปแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราช มีอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพเหนือดินแดนทุกประการ เรามีประมวลกฎหมายแพ่งอาญา มีศาล และกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นไปตามหลักสากล ศาลและตุลาการมีอิสระและอำนาจในการพิจารณาพิษากษาคดีทั้งปวง ทั้งในทางแพ่ง อาญา หรือตามกฎหมายอื่นได้ทุกประการ ประเทศใดๆ ก็ไม่มีอำนาจที่จะมาแทรกแซงก้าวก่ายได้

นักการเมือง พรรคการเมือง ทุกคนทุกพรรค พึงตระหนัก เป็นคนไทยต้องรักแผ่นดินไทย อย่าเป็นไทยแต่ใจเป็นทาส การที่มันผู้ใดเพียงการถูกกล่าวหา และต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและศาลของไทยแล้วไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของชาติตน กลับไปซุกหัวอยู่ใต้ปีกของต่างชาติ ชักดึงเอาพวกต่างชาติ โลกตะวันตก ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ ให้เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของเรา จึงเท่ากับเป็นการกระทำอันเป็นการทรยศต่อแผ่นดิน ลากดึงประเทศให้กลับสู่ความเป็นทาสอาณานิคม เหยียบยํ่าเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นชาติไทย ที่บรรพบุรุษได้เสียสละต่อสู้เพื่อให้ได้มาด้วยความยากลำบากนั้น อย่างไม่ควรให้อภัยอย่างยิ่ง

ประชาชนไทยทั้งหลาย จึงต้องสามัคคีกัน เพื่อร่วมกันปกป้องอำนาจและอธิปไตยทางศาล และเอกราชอธิปไตยของชาติในทุกๆด้าน เราต้องไม่ยอมก้มหัวให้แก่ต่างชาติทั้งหลายไม่ว่าชาติใด ที่คิดร้ายกับประเทศไทย และประชาชนไทย

 


|ข้าพระบาท ทาสประชาชน
|โดย...ประพันธุ์ คูณมี
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.2562