ทางออกนอกตำรา : วัฒนธรรม ‘ธนาธร’! รับได้มั้ย! เลิก ‘พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา’

16 เม.ย. 2562 | 06:51 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ทางออกนอกตำรา : วัฒนธรรม ‘ธนาธร’!  รับได้มั้ย! เลิก ‘พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา’
ทางออกนอกตำรา : วัฒนธรรม ‘ธนาธร’!  รับได้มั้ย! เลิก ‘พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา’
ทางออกนอกตำรา : วัฒนธรรม ‘ธนาธร’!  รับได้มั้ย! เลิก ‘พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา’
สังคมไทยถลำลึกมาไกลขนาดนี้แล้วหรือเนี่ย! ไม่ทราบว่า ทุกท่านคิดอย่างไร แต่ผมรู้สึกตกใจ และแปลกใจกับพฤติกรรมที่แปรเปลี่ยนไปของผู้คนในสังคมวัฒนธรรม ประเพณีไทย อย่างรุนแรงในขณะนี้อย่างมาก                      

ปรากฏการณ์ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์
The Momentum เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ในเรื่องการ “เลิกเรียกพี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ท่าน แล้วใช้แค่คุณ ผม เพื่อแก้ปัญหาอำนาจนิยม” ที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผมตกตะลึงพรึงเพริด เพราะนึกไม่ถึงจริงๆ


คุณธนาธร จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร เป็นเอกสิทธิ์ของคุณธนาธรที่จะต้องหาทางต่อสู้ทางการเมือง แต่ถ้าคุณธนาธรที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนให้มาเป็นนักการเมือง เพื่อกำกับดูแล ตรวจสอบ และบริหารบ้านเมือง จะทำลายล้างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงาม ซึ่งบรรพบุรุษไทยได้สร้างขึ้นมาให้ผู้คนได้ยึดถือทั้งในระดับสถาบันครอบครัว และระดับประเทศแล้วไซร้...เจอประชาชนคนไทย นายบากบั่น บุญเลิศ แน่คุณธนาธร...

ผมคนหนึ่งละที่ไม่ยอมให้ใครมาทำลายล้างสิ่งที่ดีงาม ในสังคมที่ผมอยู่อาศัยโดยเด็ดขาด....คุณละคิดอย่างไร...ถ้ายังไม่คิดมาดูนี่   

The Momentum โดยคุณอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา และ ณัฐกานต์ อมาตยกุล เป็นผู้สัมภาษณ์ ถ่ายทำและตัดต่อโดยคุณบัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล เขาลงคำให้สัมภาษณ์ของคุณธนาธร ในหัวข้อเรื่อง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และผองเพื่อนผู้ก่อการในวันที่การเมืองยังไม่ถูกปลดล็อก ไว้ดังนี้...          

“ผมยังนั่งคุยกับพวกเขาอยู่เลยว่า ถ้าพรรคของเราเกิดได้เมื่อไร ในพรรคของเราอยากให้เลิกใช้คำว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา อยากให้เลิกใช้คำพวกนี้ให้หมด สร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ...       

อย่างที่ผมบอก อะไรก็ตามที่อยากให้เกิดก็ต้องทำในพรรคก่อน เราต้องการยกเลิกวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งกีดกันโอกาส กีดกันความคิดสร้างสรรค์ของคน เรียกคนอื่นเป็นพี่ ป้า น้า อาเมื่อไร มันเป็นการเข้าไปอยู่ในโครงสร้างอำนาจนั้น เราจึงคิดว่า ใช้คำว่า คุณ ผม ดิฉัน 3 คำเพียงพอแล้ว...        

ให้เกียรติกันมากพอแล้ว ไม่มีพี่ ไม่มีท่าน คนทุกคนจะกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าเป็นตัวของตัวเอง การจะไม่ยอมรับความคิดเห็นเพราะอายุ เพราะเพศสภาพ เพราะการศึกษา ตกไปเลย…not this party ต้องไม่ใช่ที่นี่ หรืออย่างน้อยที่สุด ตราบใดที่ผมยังอยู่ที่นี่ เราจะไม่ปฏิบัติต่อกันแบบนี้”             

รับกันได้หรือไม่ผมไม่รู้...แต่ผมรับไม่ได้...  


มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
ทางออกนอกตำรา : วัฒนธรรม ‘ธนาธร’!  รับได้มั้ย! เลิก ‘พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา’
การนับญาติและการขยายการนับญาติในสังคมไทย ถือเป็นเรื่องที่ดีงาม สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องวางอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยผลัดกันเป็นผู้ให้ และเป็นผู้รับ เราจะพบว่า ในสังคมไทยยังนิยมใช้คำเรียกญาติ กับผู้ไม่ได้เป็นญาติอีกด้วย เช่น เรียกบิดามารดาของเพื่อนว่า “พ่อแม่” เรียกเพื่อนของพี่ว่า “พี่” เรียกเพื่อนร่วมงานว่า “พี่-น้อง” เรียกบ๋อย เด็กปั๊มว่า “น้อง”   

คำเรียกญาติในสังคมหนึ่งๆ มักจะบ่งบอก สถานภาพ และบทบาทหน้าที่ของคนผู้นั้นที่มีต่อกัน และมีนัยทางสังคมว่า จะต้องเคารพเชื่อฟัง และมีหน้าที่จะต้องดูแล คำเรียกญาติยังบอกหน้าที่ และบทบาทของคนผู้นั้นไว้อย่างชัดเจน

ถ้าเราเปรียบเทียบคำเรียกญาติในสังคมไทยกับสังคมตะวันตกบางสังคม เช่น สังคมอเมริกัน คำว่า brother ไม่ได้บอกว่า เป็นพี่ชาย หรือน้องชาย ใช้เรียกทั้งพี่ชายและน้องชาย แต่ในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เน้นอาวุโส เน้นความต่างกันของอายุ เราจึงมีคำว่า พี่ชายและน้องชาย เวลาที่คน 2 คนถูกแนะนำให้รู้จักกัน สิ่งแรกที่จะต้องรู้คือ ใครอายุมากกว่ากัน จะได้ลำดับความเป็นพี่เป็นน้องถูก                               

เรื่องนี้เป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งต่างจากวัฒนธรรมอเมริกัน ที่ไม่ได้ให้ค่ากับความอาวุโส และมักจะถือว่า พี่น้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน จึงไม่มีคำเรียกญาติที่ต่างกันระหว่างผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่า หรือตํ่ากว่า ด้วยเหตุที่คนในสังคมอเมริกัน มองความเป็นพี่น้องเป็นเรื่องเท่าเทียมกันเขาไม่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม                       

คำเรียกญาติเป็นคำที่บอกลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล และการนับญาติมาใช้เรียกคนที่ไม่ได้เป็นญาติ เป็นการเจตนา “สร้างความสัมพันธ์” ให้ผู้ฟังรู้สึกถึงภาระหน้าที่บางประการ ที่พึงมีต่อผู้พูด หรือที่พึงมีซึ่งกันและกัน เพื่อให้รู้สถานภาพของคนที่เรากำลังคุยด้วย            

ถ้าผู้ฟังเป็นผู้บังคับบัญชา เราอาจจะใช้สรรพนามว่า “ท่าน” ในกรณีที่ต้องการแสดงความนับถือ   

กรณีที่เราต้องการสร้างความสนิทสนม อาจจะเปลี่ยนไปเรียกว่า “พี่” หรือ “น้อง” เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้ฟังรู้สึกว่า มีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ การที่เราเรียกเขาว่า “พี่” ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีอายุมากกว่า เป็นการแสดงความนอบน้อม ผู้ฟังอาจจะรู้สึกโดยอัตโนมัติว่า มีหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ เพราะในวัฒนธรรมไทย ความเป็นพี่บ่งบอกภาระหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือดูแลผู้น้อง     

ผลการวิจัยหลายชิ้นพบว่า การใช้คำเรียกบุคคลในครอบครัวในภาษาไทยและภาษาเวียดนามแสดงให้เห็นลักษณะทางวัฒนธรรมของประเทศที่เหมือนกันคือ การเคารพนับถือผู้อาวุโส เอ็นดูผู้น้อย อ่อนน้อมถ่อมตนและยกย่องผู้อื่น     

คำเรียกบุคคลในภาษาไทยสะท้อนให้เห็นลักษณะทางด้านสังคมและวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น การให้ความสำคัญกับสถานภาพและฐานะทางสังคม ความเป็นมิตร เน้นเรื่องอาวุโสและความแตกต่างระหว่างวัย การยกย่องอาชีพ อ่อนน้อมถ่อมตน ให้เกียรติผู้อื่น และเมตตาเอ็นดูผู้น้อย                           

คุณธนาธรจะนำคำว่า คุณ ไปใช้กับคุณสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นเรื่องของคุณ จะยู ยู ไอ ไอ ก็เรื่องของคุณ แต่อย่ามาใช้กับสังคมไทย สถาบันครอบครัวของไทย ผมไม่ยอมรับให้ลูกเรียกพ่อแม่ว่า คุณ เด็ดขาด เช่นเดียวกันผมเชื่อว่า เมียคุณธนาธรชื่ออะไรนะ..อ๋อ..คุณรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็คงไม่ยอม เพราะคุณธนาธร ยังเรียกเมียตัวเองว่า “ภริยา” เลย            

ผมสงสัยไม่หายว่า สังคมวัฒนธรรมไทยที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสวยงาม ให้ผู้คนในประเทศยึดเป็นแนวปฏิบัติจนเปี่ยมด้วยเสน่ห์แห่งรอยยิ้ม อัธยาศัยที่ดี ไม่มีประเทศใดเสมอเหมือน จะถูกทำลายลงด้วยแนวคิดแสวงหาอำนาจนิยมของคุณธนาธรได้อย่างไรกัน  

เราจะปล่อยให้ลูกหลานที่เป็นอนาคตของชาติ เป็นบุคลากรที่ดีของประเทศ ต้องเป็นแบบนั้นกันหรือไม่ ทำไมเราถึงปล่อยให้เรื่องที่ดีถูกทำลาย และเปิดให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นในสังคมได้หรือครับ         

ยามใดที่ผู้คนในสังคมเต็มเปี่ยมไปด้วยคำพูดที่ไม่ให้เกียรติแก่กัน ยามนั้นสังคมประเทศนั้น จะถูกทำลายลง เพราะผู้คนในสังคมจะเต็มไปด้วย ผู้ที่ไร้เกียรติไร้สิ่งยึดเหนี่ยว ไร้วัตรปฏิบัติที่ดี ที่สวยงาม      

มาเถอะครับ...ยื่นมือของคุณออกมาร่วมกันรณรงค์ต่อต้าน ประณามผู้ที่จะยกเลิกวัฒนธรรมที่ดีของไทยกัน เพื่อสร้างสังคมที่ดีให้กับประเทศไทย!
....................

ขอบคุณ
themomentum : ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ และผองเพื่อนผู้ก่อการ ในวันที่การเมืองยังไม่ถูกปลดล็อค


| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.2562