จิตแพทย์เตือน! นักดื่มมาราธอนเกิดอาการหลอน "ถอนเหล้า"

16 เม.ย. 2562 | 03:00 น.


จิตแพทย์เตือน! นักดื่มฉลองสงกรานต์แบบมาราธอนและหยุดกะทันหัน เพราะต้องกลับมาทำงาน อาจเกิดอาการถอนเหล้าได้ โดยเฉพาะในช่วง 72 ชั่วโมงแรก อาการอาจมีตั้งแต่เล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย ควรนอนหลับพักผ่อน และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแก้เพลีย อดนอน ชี้! จะทำร้ายสมองให้ทำงานหนักมากขึ้น แนะหากมีอาการรุนแรง เช่น มีประสาทหลอน สับสน ชัก ควรรีบพบแพทย์รักษา เผย เทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา รพ.จิตเวชโคราช รับตัวผู้ป่วยเข้ารักษามากถึง 216 คน

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ทุกปี ซึ่งปีนี้หยุดยาวติดกัน 5 วัน ปัญหาที่มักเกิดตามมาทุกปี คือ เรื่องภาวะถอนเหล้า (Alcohol Withdrawal) โดยมักพบในผู้ที่ดื่มสุราฉลองเทศกาลติดต่อกันหลายวัน หรือที่พูดกันว่า ดื่มแบบมาราธอน และต้องหยุดดื่มเนื่องจากต้องกลับไปทำงานตามปกติ โดยอาการถอนเหล้ามักจะเกิดในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังหยุดดื่ม จึงต้องระมัดระวัง

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า อาการถอนเหล้าจะเริ่มปรากฎหลังจากหยุดดื่มประมาณ 6 ชั่วโมง ระดับความรุนแรงอาจแตกต่างกันตามปริมาณที่ดื่มและสุขภาพของผู้ดื่ม เช่น หากเป็นผู้ที่ติดสุราอยู่แล้วจะทำให้อาการรุนแรง เนื่องจากตับถูกทำลายมาก ในส่วนของผู้ที่ดื่มทั่วไป ส่วนใหญ่อาการมักจะไม่รุนแรง อาจมีอาการอ่อนเพลียบ้าง คลื่นไส้อาเจียน มือสั่นเล็กน้อย สาเหตุเนื่องจากขณะดื่มมักไม่รับประทานอาหาร จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสารอาหาร ระดับเกลือแร่ในร่างกายอยู่ในสภาวะไม่สมดุล ดังนั้น จึงขอแนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือ รับประทานวิตามินเสริมและดื่มน้ำหวานเพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น เครื่องดื่มที่ไม่แนะนำให้ดื่ม คือ เครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากมีสารประเภทคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ จะไปกระตุ้นให้สมองทำงานหนักขึ้น เพื่อให้ตื่นตัวมากขึ้น ในขณะที่ ร่างกายต้องการพักผ่อน และควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากการหลับใน เพราะความอ่อนเพลีย โดยอาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 2-3 วัน

 

จิตแพทย์เตือน! นักดื่มมาราธอนเกิดอาการหลอน "ถอนเหล้า"

 

"หากมีอาการรุนแรง สมองทำงานผิดปกติ คือ มีอาการทางระบบประสาท เช่น พูดจาเพ้อเจ้อ หูแว่ว สับสน มือสั่นมาก กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก เห็นภาพหลอน ชัก และอาจโคม่า มักจะเกิดหลังหยุดดื่ม 48-72 ชั่วโมง ซึ่งมักจะพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนทางกายด้วย เช่น สารเคมีในร่างกายผิดปกติ มีเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคตับ ขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน และแจ้งประวัติการดื่มเหล้าให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การดูแลอย่างถูกวิธี ซึ่งจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล" นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีที่ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ได้รับตัวผู้ป่วยที่มีอาการถอนเหล้า เข้ารักษา 216 คน คิดเป็นร้อยละ 4 ของผู้ป่วยทั้งหมดในเดือน เม.ย. ในปีนี้ ได้สำรองเตียงไว้รองรับอย่างเพียงพอหลังช่วงสงกรานต์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ใช้วิธีเลิกเหล้า โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า "เติมเชื้อ" โดยการลดปริมาณการดื่มน้อยลงเรื่อย ๆ และค่อย ๆ หยุด เพื่อไม่ให้เกิดอาการถอนเหล้าหลังจากหยุดดื่มหนักติดต่อกันมาหลายวัน เพราะเชื่อว่า หากหยุดดื่มทันทีจะทำให้เกิดอาการถอนเหล้ารุนแรงนั้น ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่ใช้วิธีการนี้ ส่วนใหญ่มักจะเลิกไม่สำเร็จ เนื่องจากพอดื่มไปแล้วก็จะติดลม หยุดไม่ได้ และอาจกลายเป็นผู้ติดสุรารายใหม่ได้