‘พาณิชย์’ เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าคืบหน้า 65%

14 เม.ย. 2562 | 10:21 น.

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ป เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผลักดันการเจรจาจัดทำข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) คืบหน้า 65% ช่วยให้การเจรจา RCEP มีโอกาสหาข้อสรุปได้ภายในสิ้นปี ตามที่ผู้นำ RCEP 16 ประเทศตั้งเป้าหมายไว้

‘พาณิชย์’ เจรจากฎถิ่นกำเนิดสินค้าคืบหน้า 65%

           นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ  โดยการประชุมคณะทำงานในครั้งนี้มีการหารือในประเด็นสำคัญ เช่น การจัดทำข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (OCP) และกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) เป็นต้น

           นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมสามารถหาข้อสรุปในเรื่องกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าได้ เช่น กลุ่มสินค้าประเภทแก้วและเครื่องแก้ว หัวรถจักร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเตียง ฟูก เบาะ เครื่องประทีปโคมไฟ และผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันสมาชิก RCEP สามารถหาข้อสรุปเรื่อง PSR ได้ในสินค้ากว่า 65% ของจำนวนรายการพิกัดสินค้าทั้งหมด โดยเกณฑ์กฎถิ่นกำเนิดที่ตกลงกันได้ส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ทางเลือก กล่าวคือ สินค้าจะได้ถิ่นกำเนิดสินค้า และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ ก็ต่อเมื่อผลิตผ่านเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างเกณฑ์สัดส่วนมูลค่าเพิ่มภายในภูมิภาค หรือเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนและอินเดีย เนื่องจากเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าดังกล่าวมีความผ่อนปรนมากกว่าเกณฑ์ที่ใช้ในความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทย-จีน และไทย-อินเดีย

           “ที่ประชุมยังสามารถหาข้อยุติสำหรับข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้เพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อบทคือ การกำหนดถิ่นกำเนิดสำหรับสินค้าอุปกรณ์ประกอบ อะไหล่ และเครื่องมือ โดยการประชุมรอบนี้ประเทศภาคีอาร์เซ็ปแสดงความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้การเจรจาคืบหน้า” นางอรมน เสริม

           สมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจา RCEP มีทั้งสิ้น 16 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29% ของมูลค่าการค้าโลก โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59.7% ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 12.6% ประเทศสมาชิกมีเป้าหมายให้ความตกลงอาร์เซ็ปมีความเรียบง่าย เป็นมิตรกับธุรกิจ และอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตภายในภาคีอาร์เซ็ป ดังนั้น หากสามารถเร่งสรุปความตกลงดังกล่าวได้เร็ว ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าแก่ผู้ประกอบการของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น