โด๊ปกำลังซื้อนำร่องขึ้นเงินเดือนทหาร-ตำรวจ

24 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
"อภิศักดิ์ "ลั่นใช้มาตรการคลังปลุกศก. ลากยาวอย่างน้อยถึงกลางปี มุ่งกระตุ้นใช้จ่ายชนชั้นกลาง ย้ำเลือกช่วยเฉพาะกลุ่ม ครม.ประเดิมไฟเขียว "ขึ้นเงินเดือนตำรวจ-ทหาร "อัตราละ 400-1,300 บาท – โครงการบ้านประชารัฐ ช่วยคนมีบ้านกว่า 4 หมื่นยูนิต ก่อนจ่อชงแพ็กเกจ เพิ่มเงินปชช.-ขรก.ผู้มีรายได้น้อย 1.5 หมื่นล. ,ต่ออายุมาตรการภาษีไทยเที่ยวไทย เอกชนขานรับหนุนเต็มที่ ด้านปลัด"สมชัย"ยันแจส ทิ้งใบอนุญาตไม่กระทบรายได้คลัง

นับตั้งแต่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รับไม้ต่อจาก " ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล " ได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาอย่างต่อเนื่อง (ภาพตารางประกอบ) เพื่อประคองเศรษฐกิจไทย แต่สัญญาณการฟื้นยังช้า เห็นได้จากหน่วยงานเศรษฐกิจหลัก เตรียมทบทวนประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ(จีดีพี)ในปีนี้ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 3.3% จากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 3.5 % ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) จ่อทบทวนตัวเลขใหม่ในเดือนเมษายนนี้ จากที่คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่ 3.7% (3.2-4.2%) เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เตรียมปรับตัวเลขใหม่ในสิ้นเดือนนี้ จากประมาณการณ์ปัจจุบันที่ 3.5%

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ มองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยถือว่าดีมาก ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลกที่สถานะดีเท่ากับไทย เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศไทยอยู่ระดับต่ำ 44% ของจีดีพี และทางไอเอ็มเอฟอยากให้ไทยใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้เต็มศักยภาพซึ่งมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะสามารถขยายตัวสูงถึง 4-5% จากเป้าหมายการขยายตัวที่ 3.5% โดยอัตราดังกล่าวยังถือว่าขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพของไทยที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม แม้ส่งออกของไทยปี 2558 จะติดลบ 5.8%, เดือนมกราคม 2559 ติดลบ 8.9% แต่ภาพรวมการส่งออกไทยเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อหักการส่งออกทองคำและน้ำมันออกไปแล้ว การส่งออกยังคงเป็นบวกอยู่ที่ 2% ถือว่าดีกว่าหลายประเทศ และยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจแบบนี้ไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะทยอยออกมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจนผ่านมาตรการต่างๆ อย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังมีช่องว่างที่สามารถทำได้

 อัดฉีดเงินเลือกช่วยเฉพาะกลุ่ม

"รัฐยังเดินหน้านโยบายการคลัง โดยการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหรืออาจไปถึงกลางปีนี้ เพื่อรอให้ถึงจังหวะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่จะเริ่มในกลางปีนี้ โดยจะทยอยเติมในกลุ่มที่ขาดและมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ครึ่งปีหลัง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ น่าจะเริ่มได้เต็มรูปแบบ"

 เปิดแพ็กเกจอัดฉีดต่อ

สำหรับมาตรการที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา อาทิ มาตรการด้านภาษีที่จะมาจาก 2 กลุ่มหลัก โดยเน้นไปที่การจูงใจกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ในด้านการท่องเที่ยวและรับประทานทานอาหาร ที่ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคล ต่อรายไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท โดยให้มีผลบังคับในทันที ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในการช่วงเทศกาลสงกรานต์ นาน 2 สัปดาห์ โดยในครั้งนี้จะเน้นการซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค และมุ่งเน้นยังกลุ่มชนชั้นกลางเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มเดียวที่ยังมีกำลังซื้อ แต่ยังขาดแรงจูงใจในการบริโภค

 แจกเงินผู้มีรายได้น้อย-ขรก.

ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเสนอต่ออายุมาตรการภาษีเพื่อการท่องเที่ยวต่อไปอีก 2 ปีสิ้นสุดปี 2560 โดยการให้นำรายจ่ายด้านท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 1.5 หมื่นบาทต่อราย ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และข้าราชการระดับล่าง โดยในส่วนของประชาชนจะกำหนดรายได้ขั้นต่ำและจะให้มีการจ่ายเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) ขณะที่ข้าราชการจะจ่ายให้ในรูปของเงินพิเศษ (โบนัส) ซึ่งต้องประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะออกมาในรูปแบบไหนอย่างไร

อย่างไรก็ดีการประชุมครม. (22 มี.ค. 59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงโครงการช๊อปช่วยชาติรอบ 2 ซึ่งให้นำรายจ่ายมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 1.5 หมื่นบาทต่อราย ว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ จึงยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมของครม.วันนี้ ( 22 มี.ค. 59)

"พอทำโครงการช็อปช่วยชาติเสร็จมีการใช้จ่ายก็มาโทษรัฐบาลอีก หาว่าส่งเสริมให้ไปใช้จ่ายจนเป็นหนี้เป็นสิน แต่พอไม่ทำให้ก็กล่าวหาว่าไม่สนใจ แล้วจะเอาอย่างไรดี"

 ขึ้นเงินเดือนทหาร-ตำรวจ

ที่ประชุมครม.วันเดียวกันยัง มีมติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการทหาร-ตำรวจ เทียบเท่าข้าราชการ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้กับข้าราชการทหาร ตำรวจและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของอัตราเงินเดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน ตามการเปรียบเทียบลำดับขั้นให้อยู่ในระดับเดียวกัน

เช่น หากอัตราข้าราชการทหารในระดับ พ.อ.พิเศษ จะเทียบเท่าชั้นอำนวยการสูงของภาคพลเรือน เป็นต้น ทำให้ฐานเงินเดือนเท่ากัน แต่จากการปรับอัตราเงินเดือนของภาคพลเรือนครั้งก่อนทำให้ฐานเงินเดือนสูงสุดของฝ่ายพลเรือนมีอัตราที่สูงกว่าภาคข้าราชการทหารตำรวจ จึงมีการเสนอให้ลดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือน โดยให้เพิ่มอัตราละ 400-1,300 บาท ซึ่งเมื่อประเมินเป็นเม็ดเงินถือว่าเพิ่มขึ้นอัตราที่ไม่มากนัก

การปรับเพดานอัตราเงินเดือนดังนี้ ระดับพล.ท. พล.ร.ท. พล.อ.ท.จากเงินเดือน 74,320 บาท ปรับเพิ่มเป็น 75,560-76,800 บาท ขณะเดียวกันระดับ พล.ต. พล.ร.ต. พล.อ.ต. จากเงินเดือน 69,040 บาท ปรับเพิ่มเป็น 70,360-74,320 บาท และระดับ พ.อ. น.อ. น.อ.อ. จากเงินเดือน 58,390 บาท ปรับเพิ่มเป็น 59,500 บาท
ระดับจ่าสิบตรี พันจ่าตรี พันจ่าอากาศตรี ถึงจ่าสิบเอก พันจ่าเอก พันจ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 29,690 บาท ปรับเพิ่มเป็น 30,220 บาท ถึง 38,750 บาท และระดับสิบตรี จ่าตรี จ่าอากาศตรี ถึงสิบเอก จ่าเอก จ่าอากาศเอก จากเงินเดือน 21,480 บาท ปรับเพิ่มเป็น 21,880 - 38,750 บาท

ส่วนข้าราชการตำรวจ ระดับ พล.ต.ท. จาก 74,320 บาท เยียวยาเป็น 75,560 - 76,800 บาท และระดับ พล.ต.ต.จากเงินเดือน 69,040 บาท ปรับเพิ่มเป็น 70,360 - 74,320 บาท

นอกจากนี้ระดับพ.ต.อ.(พิเศษ) จากเงินเดือน 69,040 บาท ปรับเพิ่มเป็น 70,360 บาท และระดับ พ.ต.อ.จาก 58,390 บาทปรับเพิ่มเป็น 59,500 บาท

 ไฟเขียวบ้านประชารัฐ 7 หมื่นล.

ที่ประชุมครม.วันเดียวกัน ได้มีมติเห็นชอบกรอบดำเนินโครงการบ้านประชารัฐ โดยให้ 3สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.), ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)สนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย(Pre Finance)3หมื่นล้านบาท และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น

 บ้านกรมธนารักษ์จ่อคิว

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังประชุมครม.ว่า คาดว่า โครงการนี้สามารถช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นยูนิต ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อยูนิต นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังมิได้เสนอวาระเพิ่มเติม เพื่อให้(ครม.) เห็นชอบในโครงการบ้านประชารัฐที่พัฒนาโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้อีก 1-2 สัปดาห์ จะมีการเสนอเพื่อบรรจุเป็นวาระสำหรับพิจารณา ส่วนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้มีรายได้ น้อยวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงการพิจารณาเพิ่มเงินให้กับประชาชน-ข้าราชการ เฉลี่ยต่อรายที่ 1 พันบาทนั้น กระทรวงการคลัง ยังไม่มีการเสนอเพื่อขอรับการพิจารณาแต่อย่างใด

ยันกรณีแจสไม่กระทบรายได้คลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ฯ หรือแจส ทิ้งใบอนุญาต 4 จีคลื่น 900Mhz ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2559 ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 2.72 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลัง ให้น้ำหนักไปที่การจัดหารายได้ผ่าน 3 กรมภาษีคือกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักไปที่กรมธนารักษ์และการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐวิสากิจ ที่สำคัญกระทรวงการคลังไม่ได้นำรายได้ที่มาจากการประมูลคลื่น 4จีเข้ามาประกอบไว้ในงบประมาณปี 2559 แต่อย่างใด

ถึงแม้ว่า กสทช. จะมีมติให้แจส ติดแบล็กลิสต์กรณีที่ไม่สามารถนำเงินมาจ่ายค่าใบอนุญาตหรือข้ามไปอีกขั้นคือเปิดให้มีการประมูลคลื่นใหม่ภายใน4 เดือนหรือภายในเดือนกรกฎาคม 2559 หรือกรณีเลวร้ายคือ พักคลื่นเป็นเวลา 1 ปีแล้วรอจัดสรรใหม่อีกครั้งใน ก็ยังยืนยันว่าจะไม่มีผลต่องบประมาณในปีนั้นนั้นหรือปีถัดไปอีก

 เอกชนหนุนช็อปช่วยชาติ

นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (บจก.) ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน , สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ กล่าวว่า หากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอีกครั้งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เห็นได้จากการจัดงานครั้งแรกที่มีกระแสตอบรับดีมาก ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปีนี้ คึกคักตามไปด้วย ทั้งนี้มาตรการที่รัฐจัดขึ้นจะส่งผลใน 2 ลักษณะคือ ระยะสั้นกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ขณะที่ระยะยาวจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้เงินไหลเข้าสู่ระบบ

นายบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย ผู้จัดจำหน่ายสินค้าในระบบขายตรงแบบเช่าซื้อ ภายใต้แบรนด์ซิงเกอร์ (SINGER) และแบรนด์ต่างๆ กล่าวว่า มาตรการช้อปช่วยชาติในครั้งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 7 วัน บางธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตทดแทนจากช่วงก่อนหน้านี้ได้ สำหรับการจัดโครงการช็อปช่วยชาติที่จะมีขึ้นอีกครั้งนั้น คงต้องดูในรายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร แต่ถือว่าช่วงเวลาที่ดีเพราะคนไทยจะจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ข้อควรระวังสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะแบบนี้ หากจัดทำบ่อยครั้งอาจจะทำให้เกิดการรอคอยจังหวะการใช้จ่ายเมื่อมีแคมเปญเท่านั้น หากรัฐไม่มีออกมากระตุ้นก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอยได้เช่นกัน

"การดำเนินการในลักษณะนี้ อาจไม่ได้เห็นผลมากนัก เพราะเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น คงต้องรอให้โครงการเมกะโปรเจ็กต์รัฐดำเนินการ จึงจะเห็นผลในเชิงของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559