'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน

12 เม.ย. 2562 | 11:33 น.

'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน



กลุ่มทุนจีนจ่อยึด 'อีอีซี' รุกเจรจา กนอ. และผู้พัฒนานิคมฯ ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ 1 หมื่นไร่ นำไปพัฒนาป้อนผู้ประกอบการชาติเดียวกันใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมและตั้งเมืองใหม่ กนอ. ยัน! ที่ดินหายากและติดข้อกฎหมาย WHA ได้โอกาสดึงเป็นพันธมิตรร่วมทุน

นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กำลังเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญทั้ง 5 โครงการ มูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 29 เม.ย. นี้


'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน
 

ผลพวงดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนต่าง ๆ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แล้วยังสนใจเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่อีอีซี โดยได้มีการติดต่อผ่านทางภาครัฐอย่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และภาคเอกชนที่ดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยต้องการจัดซื้อที่ดินแปลงใหญ่เพื่อนำไปพัฒนาแบ่งขายให้กับกลุ่มนักลงทุนจีนด้วยกันเอง ที่จะเข้ามาลงทุนในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองใหม่อัจฉริยะ


'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน
⇲ สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)


นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนภายใต้รัฐบาลจีน ได้ส่งตัวแทนมาติดต่อ กนอ. ให้จัดหาที่ดินแปลงใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่ ในอีอีซี เพื่อนำไปพัฒนารองรับกลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่ง กนอ. ได้รับหลักการไว้ โดยยังไม่ตกลงว่าจะหาพื้นที่ให้ได้หรือไม่ เนื่องจากพื้นที่แปลงใหญ่ที่เป็นพื้นที่สีม่วงตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ในอีอีซีค่อนข้างหายาก ซึ่งจะต้องรอให้มีการประกาศผังเมืองรวมอีอีซีฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำให้แล้วเสร็จก่อน ถึงจะทราบได้ว่ามีพื้นที่อยู่บริเวณไหนบ้าง

"ขณะนี้ ความต้องการที่ดินของนักลงทุนจีนสูงมาก แม้ว่าจะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ประกาศเขตส่งเสริมพิเศษทั้ง 21 แห่ง รวมพื้นที่ลงทุนกว่า 2.86 หมื่นไร่ แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นที่กระจัดกระจายไม่ได้เป็นแปลงใหญ่ที่นักลงทุนจีนต้องการ หากดูเงื่อนไขในส่วนนี้ การจัดหาพื้นที่ก็ยาก"


'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน
⇲ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)


นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มนักลงทุนจีนมีความประสงค์ที่ต้องการเป็นเจ้าของที่ดินในอีอีซีมากกว่าจะเข้ามาซื้อที่ดินในนิคมฯ ซึ่งในส่วนนี้มองว่าคงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายที่ต่างชาติไม่สามารถจัดซื้อที่ดินได้เอง 100% หากจีนต้องการที่ดินก็จะต้องเป็นการร่วมลงทุนกับทางฝ่ายไทย ซึ่งขณะนี้ ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อเข้ามาแล้วหลายราย แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะร่วมทุนกับฝ่ายใด

"มีกลุ่มนักลงทุนจีนเข้ามาติดต่อซื้อนิคมฯ ของบริษัท เพื่อนำไปพัฒนาแบ่งขายให้กับกลุ่มนักลงทุนของตัวเอง ที่จะเข้ามาลงทุนรูปแบบที่เป็นคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งบริษัทคงจะไม่สามารถขายให้ได้ เพราะต้องการเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ที่จะพัฒนาพื้นที่ในอนาคตต่อไป ประกอบกับติดข้อกฎหมายที่ต่างชาติไม่สามารถซื้อที่ดินได้ด้วย ก็มีข้อเสนอจากจีนมาว่า ขอร่วมทุนในการเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณา"


'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน
 

นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 5 แห่ง พื้นที่ราว 6 พันไร่ ใน จ.ชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ ที่ดินในพื้นที่อีอีซีทั้ง 3 จังหวัด เป็นที่ต้องการของนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นโอกาสที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินเอง เพื่อรองรับนักลงทุนจีนที่จะขยายฐานการผลิตออกมานอกประเทศ จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

"ที่ทราบมาขณะนี้ มีกลุ่มนักลงทุนจีนจากกรุงปักกิ่ง กวางเจา เซี่ยงไฮ้ ต่างเข้ามาติดต่อ กนอ. และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ว่า ต้องการที่แปลงใหญ่ติดต่อกันทำเป็นนิคมฯ เพื่อนำไปพัฒนาจัดสรรให้กับกลุ่มนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการตั้งเป็นเมืองใหม่อัจฉริยะ ตามนโยบายอีอีซีที่มีการส่งเสริม ซึ่งส่วนตัวมองว่า การหาพื้นที่เป็นหมื่นไร่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นความยากลำบากในการรวบรวมที่ดิน และต้องดูข้อกฎหมายด้วยว่า ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดิน 100% ได้หรือไม่ด้วย"

 


นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ที่ดินเหมาะแก่การพัฒนาเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีควรอยู่บริเวณ อ.สัตหีบ, บ้านฉาง, บ้านค่าย ระหว่าง จ.ระยอง ลงมาถึงพัทยา จ.ชลบุรี เนื่องจากมีศักยภาพสูง ใกล้แหล่งน้ำของหน่วยงานราชการ โครงสร้างพื้นฐานรัฐ มีแปลงที่ดินรอพัฒนา

ขณะเดียวกัน ราคาที่ดินดิบยังไม่สูง เฉลี่ยประมาณ 5 แสนบาท ถึง กว่า 1 ล้านบาทต่อไร่ ปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่สีเขียว แต่อนาคต หากผังเมืองใหม่ปรับเป็นพื้นที่สีม่วง ราคาจะขยับขึ้นไปเป็น 2 ล้านบาทต่อไร่ เป็นต้น ปัจจุบัน นักลงทุนรายใหญ่จับจองพื้นที่ ได้แก่ ซี.พี.แลนด์ WHA และอมตะ เป็นต้น


'จีน' จ่อยึด 'อีอีซี' เล็งที่หมื่นไร่ ป้อนกลุ่มทุน
 

ส่วนที่ดินใน จ.ชลบุรี จะมีราคาแพง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณศรีราชา ราคาตั้งแต่ไร่ละ 5-8 แสนบาท ไปจนถึง 2 ล้านบาทต่อไร่ เช่นเดียวกับฉะเชิงเทรา ราคาที่ดินไม่เกิน 1 ล้านบาท บริเวณถนนบางนา-ตราด ไปยังอำเภอรอบนอก หากพัฒนาระบบสาธารณูปโภค บวกต้นทุนที่ดิน 15-20% ราคาขายในนิคมอุตสาหกรรมจะเฉลี่ยถึง 5 ล้านบาทต่อไร่
 


……………….

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460 วันที่ 11-13 เม.ย. 2562 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ไฮสปีดอีอีซี" ดัน 'ศรีราชา' พลิกโฉมสุด!!
ยึดต้นแบบ "อีอีซี" บูม "เศรษฐกิจใต้"

บทความน่าสนใจ :
'ซีพี' สุดคุ้ม! 9 ปี คืนทุน 'มักกะสัน'
"ทุนใหญ่" ลุ้นเคาะ 6.7 แสนล้าน 'อีอีซี'