สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าโอกาสใหม่เชื่อมการเดินทาง-การค้า-ลงทุนไทย (จบ)

14 เม.ย. 2562 | 06:30 น.

เนื่องจากทางขึ้นสะพานของฝั่งฮ่องกงนั้นอยู่ใกล้กับสนามบินนานาชาติฮ่องกง (HKIA) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระดับโลก และเป็นสนามบินที่บริหารจัดการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลกมาเป็นระยะเวลา 8 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2553 แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจเล็งเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ HKIA ประกอบกับระยะเวลาการเดินทางที่สั้นลงระหว่างฮ่องกงกับพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยการใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าเพื่อขนส่งสินค้าได้

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนไทย

ถึงแม้ว่าการร่นระยะเวลาเดินทาง เช่น จาก 4 ชั่วโมง เป็น 45 นาทีจากฮ่องกงไปเมืองจูไห่ อาจไม่มีผลกระทบมากมายต่อการขนส่งสินค้าหลายๆ ประเภท แต่สำหรับสินค้าที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการขนส่ง เช่น อาหารสด ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ฯลฯ การร่นระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็อาจมีผลต่อความสดใหม่ของสินค้าได้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขนส่งสินค้าประเภทดังกล่าวมายังสนามบินนานาชาติฮ่องกง แล้วส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ที่อยู่ทางตะวันตกของพื้นที่สาม เหลี่ยมปากแม่นํ้าจูเจียง (Western Pearl River Delta) อย่างจูไห่ จงซาน เจียงเหมิน รวมถึงเมืองอื่นๆ ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น ไห่หนานและกวางซี ก็อาจพิจารณาใช้สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าเพื่อร่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าได้

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าโอกาสใหม่เชื่อมการเดินทาง-การค้า-ลงทุนไทย (จบ)

ในขณะเดียวกัน สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าจะช่วยให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าในพื้นที่ Western Pearl River Delta และเมือง อื่นๆ ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่สามารถขนส่งสินค้าไปยังสนามบินนานาชาติฮ่องกงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จึงอาจเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ของไทยที่สนใจจะสร้างฐานการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศอื่นๆ พิจารณาสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว เพราะสามารถส่งสินค้าไปยังสนามบินนานาชาติฮ่องกงซึ่งมีเส้นทางการบินมากกว่า 220 เส้นทางทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และได้เปรียบกว่าการสร้างฐานการผลิตในฮ่องกง เนื่องจากพื้นที่ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นกว้างขวางกว่า มีค่าเช่าที่และค่าแรงงานที่ถูกกว่าฮ่องกงเป็นอย่างมาก จึงเป็นทางเลือกที่จะเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ด้วยความที่สนามบินนานาชาติฮ่องกงนั้นพลุกพล่านจนถึงขั้นแออัดมากในบางช่วงเวลา ผู้ประกอบการไทยที่ตั้งใจจะส่งสิน ค้าไปยังฮ่องกงหรือประเทศ อื่นๆ แล้วไม่สามารถหาเที่ยวบินไปยังสนามบินนานาชาติฮ่องกงได้ก็อาจพิจารณาส่งสินค้าไปยังสนามบินจูไห่แทน แล้วจึงค่อยขนส่งสินค้าจากสนามบินจูไห่มายังฮ่องกงผ่านสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสนามบินจูไห่มีกฎระเบียบที่แตกต่างจากสนามบินนานาชาติฮ่องกง ผู้ประกอบการจึงควรศึกษากฎระเบียบของสนามบินจูไห่ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจส่งสินค้ามายังสนามบินดังกล่าว

ในด้านของการลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทฮ่องกงและบริษัทต่างชาติมากมายที่กำลังลงทุนอยู่ในเมืองต่างๆ ที่อยู่รอบๆ บริเวณเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนที่มุ่งหน้าไปสู่นครกวางโจวซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานผลิตของโลก (factory of the world)” สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าก็ช่วยพัฒนาการคมนาคมภายในเมืองต่างๆ ทางตอนใต้ของนครกวางโจวให้มีการเชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติฮ่องกงและท่าเรือฮ่องกง ส่งผลให้เมืองต่างๆ เหล่านี้เริ่มมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อมมากขึ้นและเกิดการพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองจูไห่ที่แม้จะถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone-SEZ) ด้วยกันกับเมืองเสินเจิ้นและเซียะเหมิน มาตั้งแต่ปี 2523 แต่ก็มีการพัฒนาที่ช้ากว่าเสินเจิ้นและเซียะเหมินมาก เพราะเดิมทีเมืองจูไห่ไม่มีพื้นที่ทางบกที่ติดต่อกับฮ่องกงหรือทางรถไฟที่เชื่อมต่อไปยังเมืองอื่นๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่เหมือนกับที่เสินเจิ้นและเซียะเหมินมี แต่ในปัจจุบันจูไห่เริ่มมีเส้นทางรถไฟไปยังเมืองต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น อีกทั้งสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ก็ยังช่วยสร้างการเชื่อมต่อทางบกให้กับจูไห่ไปยังฮ่องกงได้อีก ทำให้จูไห่มีเส้นทางการคมนาคมที่สะดวกมากขึ้น และกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าโอกาสใหม่เชื่อมการเดินทาง-การค้า-ลงทุนไทย (จบ)

ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักของเมืองจูไห่ได้แก่ สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ (electronic information) ชีวเภสัชภัณฑ์ (bio-pharmaceutical products) เครื่องใช้ไฟฟ้า (electrical appliances) พลังงานไฟฟ้า (electrical energy) ปิโตรเคมีภัณฑ์ (petrochemicals) และเครื่องจักรกลความแม่นยำสูง (precision machinery) นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังคาดหวังว่าจูไห่จะดึงดูดการลงทุนมากขึ้นในด้านของการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (high-end manufacturing) อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และเทคโนโลยีขั้นสูง (new and high-tech industries) อุตสาหกรรมทางทะเล (marine economy) การเกษตรเชิงอนุรักษ์ (eco-agriculture) และการแพทย์แผนจีน (traditional Chinese medicine) ดังนั้นนักลงทุนไทยที่สนใจจะลงทุนในด้านต่างๆ เหล่านี้ก็สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม และเลือกมาลงทุนในจูไห่ได้ 

คอลัมน์ หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3461 ระหว่างวันที่ 14-17 เมษายน 2562

สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊าโอกาสใหม่เชื่อมการเดินทาง-การค้า-ลงทุนไทย (จบ)