ปรับสเปกวัสดุกระทบแกรนิต 15บริษัทจ่อลอยแพกว่าหมื่น

27 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
ผู้ค้าหินแกรนิตจุก เจอหางเลข รฟม.ปรับสเปกวัสดุรวมมูลค่ากว่า 2.50 พันล้านบาท หันใช้กระเบื้องแทนหินแกรนิตตามคำสั่งนายกฯที่ให้โครงการเมกะโปรเจ็กต์ลดงบประมาณ ผู้ประกอบการสุดทนบุกทำเนียบยื่นหนังสือ "ประยุทธ์-สมคิด-บิ๊กคมนาคม" ขอสนับสนุนธุรกิจ โอดกว่า 15 บริษัทลำบาก คนงานกว่า 1.5 หมื่นคนอาจโดนลอยแพ แนะปรับลดค่าจ้างออกแบบ ค่าที่ปรึกษาและควบคุมโครงการแทน

นายกมล วรรธนคณิณ ตัวแทนผู้ผลิตและผู้ค้าหินแกรนิตของไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมปรับลดค่าใช้จ่ายในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ จากที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่นำเข้าจากต่างประเทศก็ให้เปลี่ยนมาเลือกใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น ล่าสุดปรากฏว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่สนองตอบ และหนึ่งในวัสดุที่ได้รับผลกระทบคือจะนำกระเบื้องมาใช้งานแทนหินแกรนิต อีกทั้งเลือกใช้กระเบื้องที่มีความหนาเพียง 2 มม. จากสเปก 3 มม. ซึ่งเรื่องนี้ตนได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการหินแกรนิตในประเทศว่าจะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก

ดังนั้นจึงได้ยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอผลวิจัยความคุ้มค่าของหินแกรนิตซึ่งวิเคราะห์โดยมูลนิธิธรรมเสรี รวมทั้งเป็นการสนับสนุนแนวคิดนายกรัฐมนตรีให้มีการใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศลดการนำเข้าให้มากที่สุดโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ในการใช้หินแกรนิตปูพื้นและผนัง

"เมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่างหินแกรนิตกับกระเบื้องแล้ว จะพบว่าหินแกรนิตจะแข็งแรงมากกว่า มีให้เลือกหลากสี อายุการใช้งานสูงกว่ากระเบื้องหลายเท่า ราคาแกรนิตจะคุ้มค่ากว่า ประการสำคัญการบำรุงรักษาจะง่ายและทนทานกว่ากระเบื้องหลายเท่า"

นอกจากนี้ ทางกลุ่มได้นำผลการวิจัยความคุ้มค่าของหินแกรนิตแจ้งต่อประธานบอร์ดรฟม.เพื่อขอให้สนับสนุนแนวความคิดของนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งสั่งการให้บรรจุเอาไว้ในรายละเอียดวัสดุก่อสร้างในการปูพื้นและผนังสถานีรถไฟฟ้า

พร้อมกันนั้นทางกลุ่มยังได้เสนอแนะกรณีการเปลี่ยนแปลงแบบโครงสร้างและการใช้วัสดุเพื่อลดงบประมาณว่า ไม่ใช่แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง โดยเสนอให้ปรับลดงบประมาณที่ปรึกษาโครงการที่ซ้ำซ้อนในแต่ละโครงการซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 20% ค่าจ้างออกแบบโครงการอีกประมาณ 3-5% เพราะบุคลากรของราชการล้วนมีความรู้ความสามารถน่าจะใช้ศักยภาพนั้นให้เต็มที่

ประการหนึ่งนั้นการว่าจ้างเหมารวมทั้งโครงการจึงทำให้ผู้ที่มีคุณสมบัติในการเข้าประมูลรับจ้างมีเฉพาะรายใหญ่ไม่กี่รายเท่านั้น การว่าจ้างจึงมีราคาสูงมาก นอกจากนั้นต้นทุนงบประมาณราว 15-20% ควรจะต้องแยกงานโครงการทั้งโครงการออกเป็นงานย่อยๆ แล้วแบ่งการประมูลงานที่แยกออกมานั้นว่าจ้างต่างหาก หากทำจะสามารถลดงบประมาณทั้งระบบเป็นเงินมากกว่า 40%

ทั้งนี้สมาชิกผู้ประกอบการแกรนิตมีจำนวน 15 ราย ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ แต่ที่ไม่เป็นสมาชิกที่เป็นรายย่อยยังมีอีกหลายราย ส่วนทั้ง 15 รายนั้นมีกำลังการผลิตประมาณ 3 แสนตร.ม.ต่อปีเพียงพอต่อการป้อนให้ลูกค้าในประเทศ ขณะนี้ภาวะตลาดซบเซาส่งผลให้ล้มเลิกกิจการไปจำนวนไม่น้อยกว่า 50% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตป้อนให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยยังมีเหลืออีกบ้างเฉพาะรายที่ป้อนให้กับงานราชการเท่านั้น มีลูกจ้างรายละประมาณ 100 คน คิดเป็นลูกจ้างที่จะได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 2,000 คน ดังนั้นหากรัฐไม่สนับสนุนให้ใช้หินแกรนิตธุรกิจนี้ก็จะหมดไปจากประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีนี้ เพราะทนภาวะทางเศรษฐกิจไม่ได้คนงานตกงานเพิ่มอีกหลักหมื่นคนขึ้นไปโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ตีหินในเมืองต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก

ขณะนี้ยังทราบอีกว่า มีหลายหน่วยงานที่ได้มีการระบุในสเปกให้เป็นหินแกรนิตและกระเบื้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนการปรับลดรายการวัสดุนั้นเท่าที่ทราบเบื้องต้น คือ รฟม. แต่กรมกองอื่นๆ พบว่าจะใช้เครื่องจักรหรือวัสดุจากต่างประเทศ อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และอาคารศาลฎีกาแห่งใหม่ เป็นต้น เป็นรายการวัสดุนำเข้าล้วนๆ แทนที่จะยกให้ผู้ประกอบการไทย เช่น ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยช่วยสรรหาให้ อาทิ ใช้แกรนิตสีสวยๆ จากประเทศอื่นๆ ได้บ้าง เพื่อเพิ่มความสวยงาม แต่งานส่วนใหญ่ 70% ขอให้ระบุว่าต้องใช้แกรนิตไทย

ด้านนายธีระพันธ์ เตชะศิรินุกล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เบื้องต้นนั้นสายสีส้ม ช่วงตะวันออกได้มีการปรับลดศูนย์ซ่อมของช่วงตะวันตกออกไปก่อนที่เดิมมีแผนจะดำเนินการที่พระราม 9 ให้สอดคล้องกันแต่เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น อีกทั้งยังมีการปรับลดตามราคาน้ำมัน ปรับค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดจาก 10% เหลือเพียง 5% ปรับค่าวัสดุก่อสร้างหลายรายการ อาทิ ฝ้าเพดาน แกรนิตปูพื้น ตลอดจนการปรับเรื่องพื้นที่ด้านนอกสถานีบางส่วนให้เป็นสนามหญ้าแทนการปูพื้นด้วยกระเบื้องหรือหินแกรนิตคิดเป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาทจากการที่กระทรวงคมนาคมให้ปรับลดทั้ง 2 ครั้ง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) มูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาทก็จะถูกปรับลดไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนสายสีม่วงใต้ได้ปรับลดขนาดศูนย์ซ่อมย่านพระประแดงเหลือเพียงจุดจอดพักรถสามารถลดงบประมาณลงไปได้อีกมากเช่นกัน

โดยรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี มูลค่ารวมกว่า 1.1 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 30 สถานี ระยะทางรวม 39.8 กม. มีสถานีใต้ดิน 23 สถานี และยกระดับ 7 สถานี เชื่อมโยงพื้นที่โซนตะวันตกและโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เดิมกำหนดศูนย์ซ่อมบำรุงไว้ในพื้นที่รฟม.ย่านพระราม 9 และมีอาคารจอดแล้วจรอยู่ที่คลองบ้านม้า ถนนรามคำแหง โดยจะนำช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาทไปดำเนินการก่อน

นายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพร่ธำรงวิทย์ จำกัด ผู้รับเหมาระดับชั้นพิเศษ ของกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยครับกับกรณีปรับลดสเปกในโครงการก่อสร้างต่างๆ เพราะสเปกวัสดุต้องรักษาให้ได้มาตรฐาน การปรับลดโดยใช้ราคาเป็นตัวตั้งอย่างเดียวจะเกิดผลเสียในระยะยาว จะได้ของที่ไม่คงทนถาวร สิ้นอายุก่อนกำหนดอันควร หรือไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในระยะยาว ของถูกแต่ไม่คุ้มค่าก็ไม่ควรทำ ของแพงแต่คุ้มค่าก็ควรลงทุน ของแพงแถมยังไม่คุ้มค่า อย่าทำเด็ดขาด ดีที่สุดคือของราคาเหมาะสมและคุ้มค่า

ด้านนางสรณีย์ ดีพันธุ์พงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย (ATCI) กล่าวว่า ตามปกติแล้ววัสดุก่อสร้างที่ผลิตในประเทศจะมีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) รองรับอยู่แล้ว เพียงแต่งานราชการบางงานก็มีการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่สูงกว่าที่มอก. ตั้งไว้ ยกตัวอย่าง เสาเข็มคอนกรีต ที่อาจเพิ่มจำนวนลวด มีเหล็กเสริม ปูนซีเมนต์พิเศษ เหล่านี้คือต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลสั่งลดต้นทุนงานก่อสร้างลง ก็ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีมอก. ที่กำหนดไว้ ก็ได้มาตรฐานอยู่แล้ว หรือบางโครงการของรัฐ ที่ออกแบบว่าต้องใช้หินอ่อนตกแต่งก็หันไปใช้วัสดุอื่นที่ราคาถูกกว่า เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559