อานิสงส์ทองคำ ดันส่งออกอัญมณี ตลาดจีนโต300%

19 เม.ย. 2562 | 04:55 น.

 

 

 

พาณิชย์เผยตลาดอัญมณีสวนกระแสเศรษฐกิจโลกซบ ส่งออก 2 เดือนแรกยังเป็นบวก 1.4% อานิสงส์ส่งออกทองคำโต 12% จากผู้ค้าเก็งกำไรส่วนต่างราคา ตลาดจีนพุ่งแรง 249.6% ขณะส่งออกพลอยสีได้เพิ่มขึ้น

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวประกอบกับความตึงเครียดของสงครามทางการค้าสหรัฐฯ-จีนเริ่มคลี่คลาย แม้ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ของการแยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ความผันผวนของค่าเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ยังคงชะลอตัวลง แต่การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับช่วง 2 เดือนของปีนี้มีมูลค่า 2,182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อานิสงส์ทองคำ  ดันส่งออกอัญมณี  ตลาดจีนโต300%

                                                                                    นางดวงกมล เจียมบุตร

ตัวเลขดังกล่าวมีปัจจัยปัจจัยจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป(ทองคำแท่ง) เพิ่มขึ้น 11.8% จากการเก็งกำไรส่วนต่างราคาทองคำของผู้ค้า ที่ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 และยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นของพลอยสี 6.97% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของพลอยเนื้อแข็งเจียระไน 11.01% พลอยก้อน เพิ่ม 5.22% และเครื่องประดับเทียม เพิ่ม 3.03%

สำหรับตลาดที่เติบโตได้ดี ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้น 7.12% สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 1.57% จีน เพิ่มขึ้น 249.64% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงมาก จากการส่งออกเครื่องประดับเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 83.7% และเครื่องประดับทอง 376% อิตาลี เพิ่ม 57.21% เบลเยียม เพิ่ม 4.72%

อย่างไรก็ตามในส่วนของเครื่องประดับแท้ การส่งออกลดลง 2.88% โดยเครื่องประดับเงินลดลง 11.25% โดยตลาดที่มีการส่งออกลดลง เช่น เยอรมนี สหรัฐฯ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ส่วนเครื่องประดับทองและเครื่องประดับแพลทินัม ลดลง 3.06% และ 16.99% ตามลำดับ โดยลดลงในตลาดฮ่องกง และสหรัฐฯ  ขณะที่เพชร ลดลง 12.84% จากความต้องการบริโภคเพชรที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้เชื่อว่าแนวโน้มการบริโภคเพชรจะดีขึ้น หลังสมาคมผู้ผลิตเพชรโลกได้ออกแคมเปญกระตุ้นการซื้อเพชรในปีนี้

“ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงินบาท และต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยปัจจุบันผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่โปร่งใส ธุรกิจที่เข้าร่วมระบบบล็อกเชน และมีแนวโน้มซื้อสินค้าจำพวก Smart Jewelry และสินค้าที่มีนวัตกรรม ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ควรปรับตัวและผลิตสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ จะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น” 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,462 วันที่ 18-20 เมษายน 2562

อานิสงส์ทองคำ  ดันส่งออกอัญมณี  ตลาดจีนโต300%