เป้า8%หืดจับ!  ถกเอกชนปรับตัวเลขใหม่ “ปีนี้ส่งออก ไม่ใช่พระเอกดันจีพีดี”

15 เม.ย. 2562 | 03:45 น.

 

เป้าหมายการส่งออกของไทยที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้จะขยายตัวได้ที่ 8% ในปี 2562 (จากปี 2561 ส่งออกมูลค่า 252,486 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)กำลังถูกท้าทาย หลังช่วง 2 เดือนแรกปีนี้การส่งออกของไทยมีมูลค่า 40,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพียง 0.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งสงครามการค้า คู่ค้าออกมาตรการกีดกัน เงินบาทแข็งค่า และปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย

ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกของไทยปีนี้จาก 5% ลงเหลือ 3% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ปรับคาดการณ์ส่งออกลงเหลือ 3-5% จากเดิมคาดขยายตัว 5-7% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากคาดการณ์เดิม 3.5% ลดลงเหลือ 3.3% สะท้อนถึงเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งในภาวะการค้าโลกขาลงเช่นนี้ถือเป็นงานท้าทายของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ แม่งานหลักในการผลักดันการส่งออกของประเทศจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 8% หรือไม่

เตรียมถกเอกชนปรับเป้าใหม่

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายการส่งออก 8% ถือว่าหืดขึ้นคอทีเดียว ซึ่งแม้ปีนี้ตนจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน แต่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่ ซึ่งเป้า 8% ถือเป็นเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งคงต้องหารือกับภาคเอกชนอีกครั้ง

เป้า8%หืดจับ!   ถกเอกชนปรับตัวเลขใหม่  “ปีนี้ส่งออก ไม่ใช่พระเอกดันจีพีดี”

บรรจงจิตต์  อังศุสิงห์

“กรมเตรียมเชิญผู้ประกอบการ 10 อุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงเอกชนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรวบรวมข้อมูลก่อนนำไปหารือกับทูตพาณิชย์ในช่วงงาน Thaifex 2019 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-1 มิถุนายนนี้”

ขณะในวันที่ 25 เมษายนกรมจะเชิญภาคเอกชนหารือเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกและแนวโน้มของการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้เพื่อปรับเป้าส่งออกใหม่ ซึ่งกรมจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยจะกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสมกับทิศทางสถานการณ์ ซึ่งน่าจะเห็นภาพที่ชัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ระหว่างนี้จะเร่งรัดให้ทูตพาณิชย์ดูสินค้าและตลาดที่มีศักยภาพเพื่อเจาะตลาดให้ตรงกับความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2562 หลักๆ ได้แก่ การดำเนินการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู)ของอังกฤษ หรือ เบร็กซิทที่ล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนว่าอังกฤษจะแยกจากอียูแบบมีข้อตกลงรับรองหรือไม่ ส่วนสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนนั้น แม้จะทำให้การส่งออกสินค้าไปตลาดจีนลดลง แต่ภาพรวมสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐฯช่วง 2 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น จากไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคือ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

 

ภาคบริการพระเอกดันจีดีพี

“ปีนี้การส่งออกไม่ใช่พระเอก แต่จะเป็นภาคบริการที่จะเป็นพระเอกในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในประเทศแทน ในอนาคตการส่งออกไทยอาจจะไม่สามารถชี้วัดได้เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูการลงทุนของไทยในต่างประเทศที่มีการขยายฐานการลงทุนออกไป รวมถึงภาคบริการด้วย เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครดูตัวเลขในส่วนนี้อย่างชัดเจน”

สำหรับการส่งออกภาพรวมไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขอาจจะไม่ดีนัก ซึ่งเป็นไปตามซีซัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงไตรมาส 1 การส่งออกจะเงียบๆ และจะกลับมาคึกคักในช่วงไตรมาส 2 และ 3 และในไตรมาส 4 ก็จะชะลอตัวลง จากมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วเหลือเพียงการส่งมอบสินค้า

 

ปรับแผนลุยตลาดเฉพาะกลุ่ม

เพื่อกระตุ้นการส่งออกของไทย ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้กรมจะมีการปรับแผนผลักดันการส่งออก โดยจะเน้นการหาสินค้าใหม่ ๆ และพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กที่มีศักยภาพในการส่งออก ให้กลายเป็นผู้ส่งออกที่เข้มแข็ง ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ลงพื้นที่แล้วหลายจังหวัด เช่น สงขลาเพื่อร่วมกันพัฒนาตลาดส่งออกผ้าใยสับปะรด เป็นต้น

กรมยังเริ่ม ไปจับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ประกอบการรายจิ๋ว ที่มีภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาพัฒนาสินค้าในการส่งออกทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ให้มากขึ้น

นอกจากนี้จะโฟกัสตลาดใหม่ๆ เช่น ตลาดจีนในรัฐรองที่ยังไม่เคยไป อินเดียในรัฐที่มีคนรวยจำนวนมาก ซึ่งจะเน้นไปตลาดพวกนี้มากขึ้น และจะดูว่าในรัฐนั้นๆ ต้องการสินค้าอะไร เพื่อที่กรมจะได้จัดแมตชิ่งตรงตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ เน้นกลุ่มเฉพาะมากขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มผู้สูงอายุ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้ากลุ่มคนรวย เป็นต้น 

 

   หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,461 วันที่ 14-17 เมษายน 2562

เป้า8%หืดจับ!   ถกเอกชนปรับตัวเลขใหม่  “ปีนี้ส่งออก ไม่ใช่พระเอกดันจีพีดี”