"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน

11 เม.ย. 2562 | 11:28 น.


'อุดรซิตี้บัส' ผนึก 'อาร์ทีซี' ยัน! ความพร้อมลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา 3 เส้นทาง เชื่อมต่อ 3 ศูนย์เศรษฐกิจ ตามแผน 10 ปี ลงทุนเกือบหมื่นล้าน รองรับรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ "กรุงเทพฯ-หนองคาย" จับตาปั้น 'ทุ่งศรีเมือง' พัฒนาเป็น Udonthani Transit Plaza ศูนย์กลางไมซ์ของอนุภูมิภาค GMS ฝั่งตะวันออกในอีก 10 ปีข้างหน้า

 

"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน

 

พ.ท.วรายุส์ ตรีรัตนสุวรรณ ประธานกรรมการกฎบัตรอุดรธานี ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด ผู้ให้บริการรถขนส่งมวลชน "อุดรซิตี้บัส" กล่าวภายหลังประชุมปฏิบัติการกฎบัตรอุดรธานี ครั้ง 8 เพื่อการวางแผนปฏิบัติการ ว่า ที่ประชุมสาขาคมนาคมขนส่งสีเขียว หรือ สาขา Green Transportation ได้มีมติให้ออกแบบปรับปรุงโครงข่ายขนส่งมวลชนเมืองอุดรธานีใหม่ ตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดและเกณฑ์ความเป็นผู้นำการออกแบบพลังงานและสภาพแวดล้อมระดับย่าน (LEED-ND) โดยให้ออกแบบโครงข่ายขนส่งมวลชน 3 เส้นทาง รองรับการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย

 

"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน

 

โดยกำหนดศูนย์กลางการขนส่งเมืองอุดรธานี จำนวน 2 จุด ได้แก่ บริเวณสถานีรถไฟอุดรธานี หรือ ใจกลางศูนย์เศรษฐกิจยูดีทาวน์ กับบริเวณทุ่งศรีเมือง ซึ่งบริเวณทุ่งศรีเมืองจะออกแบบพัฒนาเป็น Udonthani Transit Plaza เป็นจุดรวมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ารางเบา ควบคู่กับสถานีรถไฟอุดรธานี พร้อมการออกแบบโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเบา หรือ Tram ระดับผิวดินให้เป็นโครงข่ายหลัก จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางสายท่าอากาศยานอุดรธานี-สถานีรถไฟอุดรธานี หรือ ใจกลางย่านยูดีทาวน์ ความยาว 15 กิโลเมตร

2.เส้นทาง S สายที่ต้นทางจากปากทางวัดป่าบ้านตาดถึงสถานีขนส่งอุดรธานี 1 ความยาว 8 กิโลเมตร

และ 3.เส้นทางเริ่มที่สถานีทุ่งศรีเมืองวิ่งถึงสถานีศาลแรงงานภาค 4 ความยาวประมาณ 9 กิโลเมตร โดยเส้นทางแรกกำหนดวงเงินลงทุนประมาณ 4,500 ล้านบาท เส้นทางที่สอง 2,400 ล้านบาท เส้นทางที่สาม ประมาณ 2,700 ล้านบาท โดยเส้นทางแรกออกแบบรายละเอียดในปีที่ 3 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ในปีที่ 7 น่าจะเปิดบริการได้ ส่วนอีก 2 เส้นทางนั้น เปิดบริการภายในปีที่ 10

อนึ่ง ผลการศึกษาเบื้องต้นของบริษัทที่ปรึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะเมืองอุดรธานีของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า อุดรธานีมีความเหมาะสมในการพัฒนาโครงข่ายรถเมล์ไฟฟ้าเป็นโครงข่ายหลัก สำหรับการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา ดังเช่น จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมานั้น พบว่า อุดรธานีในช่วง 10 ปีแรก ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน

"โดยเส้นทางสายแรก ท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี-สถานีรถไฟอุดรธานี น่าจะก่อสร้างได้ในปีที่ 5 ส่วนเส้นทางที่ 2 และ 3 คาดว่าจะก่อสร้างในปีที่ 8 นับจากปัจจุบัน สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบาสายแรกนั้น ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการรถบัสขนส่งมวลชนวิ่งประจำทาง ซึ่งหลังจากการก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาแล้วเสร็จ จะนำรถบัสให้บริการเป็นระบบขนส่งมวลชนรอง หรือ Feeder Line ให้กับรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเป็นโครงข่ายขนส่งมวลชนระดับที่ 2 สำหรับโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะลำดับที่ 3 นั้น เป็นระบบย่อยสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนรอง ซึ่งจะออกแบบให้บริการเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้านขนาดกลางใหญ่กับป้ายจอดรถอุดรซิตี้บัสและสถานีรถไฟฟ้ารางเบา"

 

"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน


ด้าน นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อการออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า บริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ RTC ผู้บริการรถบัสขนส่งมวลชนใน จ.เชียงใหม่ และนนทบุรี ยินดีสนับสนุนและร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาอุดรธานีของ บริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด ตามเป้าหมายพัฒนาสาขาคมนาคมขนส่งสีเขียวของกฎบัตรอุดรธานี

 

"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน

 

"เนื่องจาก RTC เป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมลงทุนของผู้บริหาร บริษัท พัฒนาเมือง จึงมีภารกิจในการสนับสนุนให้เกิดระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพในหัวเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.อุดรธานี ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและจะเป็นศูนย์กลางของไมซ์ของอนุภูมิภาค GMS ฝั่งตะวันออกในอีก 10 ปีข้างหน้า"

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของกฎบัตรอุดรธานี พบว่า การลงทุนโครงข่ายขนส่งมวลชนเมืองอุดรธานีจะมีความคุ้มค่าก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีสำคัญ ดังนั้น ในเบื้องต้น จึงกำหนดในแผนการคมนาคมขนส่งสีเขียวให้พัฒนาพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจตามเกณฑ์ TOD จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจตลาดโพศรี ศูนย์ตลาดบ้านห้วย และศูนย์สถานีขนส่งแห่งที่ 1 เป็นศูนย์เศรษฐกิจระดับ 2

โดยพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจระดับ 1 จำนวน 3 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์เศรษฐกิจราชพัสดุ ที่ดินประมาณ 23 ไร่ ใจกลางเมืองอุดรธานี เป็นโรงแรม ศูนย์การประชุม ศูนย์ค้าปลีก และที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนระดับกลางและระดับล่าง (Affordable Housing) พัฒนาพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจทุ่งศรีเมืองเป็นศูนย์การค้าปลีก โรงแรม และที่อยู่อาศัย โดยใช้ที่ดินราชพัสดุที่เป็นบ้านพักราชการ จำนวน 12 ไร่ สำหรับศูนย์ที่ 3 เป็นการพัฒนาร่วมกับเอกชนผู้เช่าที่ดินเดิมของการรถไฟ บริเวณสี่แยกทองใหญ่ หรือ สถานีรถไฟอุดรธานี โดยพัฒนาเพิ่มศูนย์การประชุมจาก 1.2 หมื่นคน เป็นศูนย์ประชุม 3 หมื่นคน พร้อมโรงแรมระดับห้าดาว จำนวน 2,000 ห้อง

"ศูนย์เศรษฐกิจที่จะพัฒนาขึ้นใหม่จะสนับสนุนความสามารถของหน่วยเศรษฐกิจเดิมให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น กล่าวโดยรวม ตามแผนกฎบัตรอุดรธานีในปีที่ 10 อุดรธานีจะมีความสามารถรองรับผู้เข้าประชุมได้ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน และสามารถรองรับกิจกรรมไมซ์ ทั้งงานกีฬา งานจัดแสดงสินค้า หรือ งานเอ็กซ์โป ที่มีผู้เข้าร่วมได้มากถึง 7 หมื่นคนต่อวัน"

 

"อุดรธานี" ผนึก 'อาร์ทีซี' ผุดแผนพัฒนา "รถไฟฟ้า 3 สาย" ค่าเกือบหมื่นล้าน