รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่

11 เม.ย. 2562 | 08:33 น.

 

รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่

 

... ระหว่างวันที่ 2 ถึง 5 เม.ย. 2562 ผมและทีมวิจัยของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ไปเก็บข้อมูลการค้าชายแดนและสำรวจสถานะการทำธุรกิจที่ด่านชายแดนแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย

จ.เชียงราย มีตำแหน่งที่ตั้งที่ดี เพราะติดกับประเทศเมียนมา ระยะทางยาว 153 กม. (จังหวัดไทยที่ติดกับเมียนมามีชายแดนยาว 1,800 กม.) และลาว ระยะทาง 155 กม. (จังหวัดไทยที่ติดกับลาวมีชายแดนยาว 1,750 กม.) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ ติดกับประเทศจีนและอินเดียที่เป็นตลาดที่สำคัญมาก ไม่น่าจะมีจังหวัดใดในประเทศไทยเหมือนกับเชียงราย ที่สามารถเชื่อมได้ทั้งอาเซียน อาเซียน+3 และอาเซียน+6 จ.เชียงราย มีด่านชายแดนที่สำคัญ 3 ด่าน คือ ด่านแม่สาย ที่ถูกวางตำแหน่งให้เป็น "Trading City" เชื่อมโยงเชียงราย เมียนมา และจีน, ด่านเชียงแสน ถูกวางตำแหน่งเป็น "Port City" เชื่อมเชียงราย เมียนมา ลาว และจีน และด่านเชียงของ ถูกวางตำแหน่งเป็น "Logistics City" เชื่อมโยงเชียงราย ลาว และจีน

 

รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่

 

ตรงด่านแม่สายมีสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา อยู่ 2 สะพาน คือ สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ใช้สำหรับขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ขึ้นกับการบริหารจัดการของรัฐฉาน ซึ่งจะไม่มีการใช้หนังสือรับรองขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรในกรอบอาเซียน หรือ หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ที่เรียกว่า "Form D" แต่ฝั่งเมียนมาจะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าเอง โดยอัตราภาษีที่ร้อยละ 3 ส่วนสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ห่างจากสะพานแห่งที่ 1 ประมาณ 2 กม. บริหารจัดการโดยรัฐบาลกลางของเมียนมา ใช้เอกสาร "Form D" บริเวณด่าน อ.แม่สาย ติดกับ จ.ท่าขี้เหล็ก สามารถเดินทางไปยังเมืองเชียงตุง (จากเมืองเชียงตุงไปยังด่านมูเชของพม่าและรุ่ยลี่ของจีน ระยะทาง 700 กม.) รัฐฉานของเมียนมา ด้วยระยะทาง 164 กม. และต่อไปยังชายแดนพม่า ที่เมืองลา (Muang La) กับด่านต้าลั่ว สิบสองปันนา ระยะทาง 90 กม. ถนนเป็นถนนดำ 2 เลน และคดเคี้ยวพอสมควร (ระยะทางจากแม่สาย-ตองยี 480 กม. แม่สาย-มัณฑเลย์ 1,100 กม. และแม่สาย-เนปิดอร์ 680 กม.) ซึ่งบริเวณด่านดังกล่าวได้ปิดมา 10 ปีแล้ว เนื่องจากมีบ่อนคาสิโนเยอะ ทำให้รัฐบาลจีนไม่สนับสนุน คนเมียนมาบริเวณด่านเมืองลา-ต้าลั่วพูดภาษาจีนและใช้เงินหยวน เส้นทางจากแม่สายถึงด่านต้าลั่ว เรียกว่า "R3B"
 


สินค้าที่ไทยส่งออกตรงด่านแม่สาย คือ น้ำมันเชื้อเพลิง สุรา เบียร์ ไวน์ เครื่องดื่ม น้ำดื่ม ปูนซิเมนต์ สังกะสี เหล็กเส้น รถยนต์และส่วนประกอบ ขนมปัง และเครื่องจักร ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ แร่แมงกานีส แร่ดีบุก ใบชา ส้มสด กระเทียม เครื่องแต่งกาย และเศษเหล็ก สินค้าเหล่านี้จะไปขายที่ท่าขี้เหล็ก ร้อยละ 40, เชียงตุง ร้อยละ 40 และตองยี ร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นที่เมืองลา

การค้ารวม (ไทยส่งออกบวกนำเข้า) ตรงด่านแม่สาย อยู่ที่ปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข "ที่ระดับนี้มาหลายปี" ไทยส่งออกไปเมียนมา 9 หมื่นล้านบาท นำเข้า 300 ล้านบาท และเมื่อสำรวจตลาดบริเวณด่านแม่สาย พบว่า "เงียบเหงามาก" เหตุผลหลักมาจากคนหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์และเศรษฐกิจตรงชายแดนที่ซบเซาอีกด้วย

 

รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่

 

จากการสำรวจธุรกิจตรงด่านแม่สาย พบว่า ผู้ประกอบการเชียงรายทำการค้ากับ 3 เมืองเท่านั้น ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก ร้อยละ 67 ตามด้วยเชียงตุง ร้อยละ 18 และตองยี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ เพียงร้อยละ 13 เท่านั้น เพราะ 1.ไม่ไกลจากแม่สาย 2.ผู้บริโภครัฐฉานมีความนิยมสินค้าไทย 3.นักธุรกิจเชียงรายคุ้นเคยในพื้นที่ ทำให้เข้าใจวิถีชีวิตชาวรัฐฉานเป็นอย่างดี 4.สินค้ารัฐฉานเองยังมีไม่เพียงพอ 5.คนรัฐฉานมีเงินมากขึ้นจากการลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายขณะนี้ คือ สินค้าจีนราคาสูงและคุณภาพที่ใกล้เคียงกับสินค้าของไทยเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมุมมองของผู้บริโภคในรัฐฉานที่มองสินค้าไทย ทั้งยารักษาโรค ชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ล้วนมีคุณภาพดีและปลอดภัย แต่มีจุดอ่อนที่ราคาที่แพงกว่าสินค้าจากจีน เพราะค่าแรงการจ้างงานในรัฐฉานต่ำกว่าไทย ทำให้การจ้างงานมีต้นทุนที่ต่ำกว่าของไทยเรา มีผลตอบแทนทางการค้าที่สูงกว่าไทย และตลาดในรัฐฉานมีพื้นที่เชื่อมโยงกับจีน ทำให้มีโอกาสในการขยายการค้าการลงทุนได้ดีกว่าไทย รวมทั้งรัฐฉานได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยว มีปริมาณนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การค้าการลงทุนในเชียงตุงพัฒนาได้ดีกว่า

 


สำหรับอุปสรรคของสินค้า เป็นเรื่องของกฎระเบียบกติกาและขั้นตอนทำการค้าภายในรัฐฉาน ที่สร้างความยุ่งยาก ประเด็นคุณภาพของสินค้า และมาตรฐานของสินค้า เป็นโอกาสของสินค้าไทยที่สามารถแข่งขันสินค้าจากรัฐฉานและสินค้าจากประเทศจีน "ความท้าทายใหม่" สำหรับสินค้าและการทำธุรกิจ ผมคิดว่า มีดังนี้ครับ 1.คนหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์มากกว่าการเดินทางไปซื้อสินค้าที่ด่านแม่สาย (ช่วงที่ผมไปด่านแม่สายเงียบเหงามาก) 2.การขนส่งสินค้าไทยจากเชียงตุงไปตองจียังไม่สะดวก เพราะโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม โดยเฉพาะถนน ไทยน่าจะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันความร่วมมือกับรัฐฉานและรัฐบาลจีน เพื่อสนับสนุนก่อสร้างถนน

3.จัดตั้งศูนย์ประสานงานเป็นศูนย์กลางการติดต่อเชื่อมโยงจับคู่ทางการค้า ประสานงานระหว่างผู้ที่สนใจจะนำสินค้าไทยไปขายในเชียงตุง ให้คู่ค้าได้มาเจอกันและเกิดคอนเน็กชั่นต่อกัน 4.ส่งเสริมร่วมมือการท่องเที่ยวและพัฒนาด้านการค้าระหว่างประเทศให้มีมาตรฐาน กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น (แม่สาย รัฐฉาน หลวงน้ำทา จีน) 5.ภาครัฐเข้ามาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับเชียงตุง รัฐฉาน และประเทศเมียนมามากขึ้น 6.ปรับกฎระเบียบการขนส่งที่มีขั้นตอนยุ่งยากให้มีความสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาน้อย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 7.ส่งเสริมนโยบายการค้าระหว่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายการค้า ให้ไทยและเชียงตุงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันด้านการค้า 8.ผลักดันเงินสกุลท้องถิ่นที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อการค้าชายแดน หรือ "สกุลเงิน CLMVT"

 

รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่

 

สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพของรัฐฉาน ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพราะรัฐฉานมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีพืช-ผักนานาชนิด และมีผลผลิตจำนวนมาก เช่น ข้าว ข้าวสาลี มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ข้าวโพด ถั่วต่าง ๆ ผลไม้ เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ส้ม กล้วย มันฝรั่ง กระหล่ำปี กาแฟ ชา และพืชเมืองหนาวต่าง ๆ ทำให้เหมาะจะลงทุนทำอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมทั้งสามารถส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ ไปเมืองมูเซ, ธุรกิจธนาคาร การค้าการลงทุนไทยกับรัฐฉานกำลังเติบโต ส่งผลให้มีความต้องการธนาคารไทยมากขึ้น, โรงแรมและท่องเที่ยว รัฐฉานเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลเมียนมามีแผนพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยว และปัจจุบัน มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากไทย ยุโรป และจีน แต่มีโรงแรมเพียงไม่กี่โรงแรมและยังไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในการสร้างโรงแรม โดยเฉพาะแถบทะเลสาบอินเล, ผลิตภัณฑ์และโคนม เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่รัฐฉานยังขาด และผลิตภัณฑ์นมในแต่ละปี รัฐฉานต้องนำเข้ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนมากจะนำเข้าจากจีน เนื่องจากความต้องการสูงกว่าปริมาณการผลิต และรัฐฉานก็มีวัวนมเพียง 3,205 ตัว
 

รู้ลึก อาเซียนพลัส | ตลาดซบ-นักช็อปแห่ซื้อออนไลน์! ชายแดน "แม่สาย" กับความท้าทายใหม่