สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

15 เม.ย. 2562 | 01:00 น.


... อ.พระประแดง เดิมเป็นชื่อเมือง "นครเขื่อนขันธ์" เป็นเมืองหน้าด่านของปากแม่นํ้าเจ้าพระยา สร้างโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกที่ยกมาทางทะเล ชาวพื้นเมืองเดิมของเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นชาวรามัญ หรือ มอญ ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินไทยเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 

นี่เอง ... เราจึงเห็นประเพณีและวัฒนธรรมมอญจึงฝังรากแน่นแฟ้นในเมืองพระประแดงจนถึงทุกวันนี้ และกิจกรรมสำคัญในการสืบสานประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยเชื้อสายรามัญ คือ การจัดงาน "สงกรานต์พระประแดง" หรือ "สงกรานต์บ้านมอญปากลัด" ซึ่งเทศบาลเมืองพระประแดงได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 เม.ย. 2562 ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอพระประแดง จ.สมุทรปราการ

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 

ด้วยความที่สงกรานต์พระประแดงจะจัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทำให้ที่นี่เป็นจุดเล่นสงกรานต์ ปิดท้ายเทศกาลรื่นเริงวันปีใหม่ไทย ซึ่งคนจะคับคั่งเป็นพิเศษ มาสงกรานต์พระประแดงนอกจากจะได้เล่นสาดนํ้าสนุกสนานแล้ว เรายังจะได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ประเพณีชาวรามัญ ไฮไลต์เริ่มกันตั้งแต่ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม ประเพณีไทย 79 จังหวัด และขบวนบุปผชาติ "มหาสงกรานต์ เบิกบานวิถีไทย" การประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย ร่วมพิธีสรงนํ้าพระพุทธรูปและรดนํ้าขอพรผู้ใหญ่

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 

พลาดไม่ได้กับการชมการละเล่นพื้นเมือง (สะบ้ารามัญ) อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของชาวรามัญ การเล่นสะบ้ามี 2 ประเภท คือ สะบ้าประเภทเล่นกลางวัน เรียกว่า "ทอยสะบ้าหัวช้าง" เป็นการละเล่นของชายฉกรรจ์ โดยคนทอยอยู่คนละข้าง มีสะบ้าหัวช้างข้างละ 5 ลูก โดยมากใช้ลูกสะบ้าจริง ๆ ตั้งเป็นรูปค่ายทหารโบราณ คือ แนวนอน 3 ลูก ห่างกันพอสมควร ลูกที่ตั้งอยู่ทางซ้าย คือ ปีกซ้าย ลูกตรงกลาง คือ กองทัพหลวง ลูกทางขวา คือ ปีกขวา แนวตั้ง 2 ลูก คือ ทัพหน้าและทัพหลัง ทั้ง 2 ข้าง อยู่ห่างกันประมาณ 14-15 วา การทอยเหมือนโยนโบว์ลิ่ง ใครทอยล้มหมดก่อนชนะ มีลูกทอยข้างละ 3 ลูก ลักษณะเหมือนจักรที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาขว้างจักร และการเล่น "สะบ้าบ่อน" ในตอนกลางคืน ซึ่งฝ่ายหญิงเป็นผู้ตั้งลูกสะบ้า เรียกว่า "จู" ให้ฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน ฝ่ายชายนั่งที่ม้านั่งตรงข้ามกับฝ่ายหญิง หัวหน้าฝ่ายชายเริ่มเล่นก่อน โดยเล่นท่าไหน คนต่อ ๆ ไปเล่นท่าเดียวกันนั้น จนครบทุกคน

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 


อีกหนึ่งเอกลักษณ์ คือ ชมการ "กวนกาละแม" ของดีเมืองพระประแดง ชมการแสดง แสง สี บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และการแสดงทะแยมอญ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานสงกรานต์พระประแดง คือ ขบวนแห่นก แห่ปลา ซึ่งการปล่อยนกปล่อยปลาตามตำนาน นอกจากเป็นการช่วยชีวิตปลาแล้ว อีกตำนานว่าเกี่ยวกับโหราศาสตร์ คือ มีสามเณรรูปหนึ่งถกนักโหราศาสตร์ ทำนายว่า ชะตาขาดต้องเสียชีวิตแต่บังเอิญ ระหว่างทางที่เดินทางไปเยี่ยมมารดา พบปลาตกคลักอยู่ในหนองแห้ง สามเณรจึงช่วยจับปลาเหล่านั้นไปปล่อยในคูนํ้า สามเณรจึงพ้นจากชะตาขาดด้วยการทำบุญปล่อยปลา จึงถือว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 

ขบวนแห่นก แห่ปลา จึงมีสาวรามัญร่วมขบวนแห่ ซึ่งก่อนแห่เจ้าภาพจะเอานกใส่กรงและเอาปลาหมอใส่ขวดโหล โหลละ 2-3 ตัว เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ให้สาว ๆ ที่เชิญมาถือกรงนก หรือ โหลใส่ปลา เข้าร่วมขบวนแห่ไปตามถนน จนถึงสถานที่ปล่อยนกปล่อยปลา ในขบวนแห่ก็มีการละเล่นสลับ ได้แก่ แตรวง ทะแยมอญ เถิดเทิง ร่วมขบวนไปเป็นที่สนุกสนานรื่นเริง มักเป็นเวลาประมาณ 15.00 น.

 

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"

 

นอกจากนี้ ภายในงานสงกรานต์พระประแดงยังจะมีการออกร้านจำหน่ายทั้งสินค้าพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่นมากมายอีกด้วย

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร


หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3461 ระหว่างวันที่ 14 - 17 เมษายน 2562

สืบสานประเพณี "ไทย-รามัญ" ... "สงกรานต์พระประแดง"