"ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ประกอบไทยยอดพุ่ง ... สอยแบรนด์ยุโรปร่วง!!

11 เม.ย. 2562 | 07:25 น.


บิ๊กไบค์พรีเมียมป่วน! หลัง "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ขึ้นไลน์ประกอบในไทย พร้อมทำแคมเปญลดราคาหลายแสน จนยอดขายพุ่ง แต่ทำเพื่อนแบรนด์ยุโรปน้ำตาตก ไทรอัมพ์-บีเอ็มดับเบิลยู-ดูคาติ ยอดขายลดลงต่อเนื่อง ส่วนแบรนด์ญี่ปุ่นสู้ขาดใจ 'ซูซูกิ' ขอคืนชีพด้วยรถใหญ่ ขยายโชว์รูมเป็น 15 แห่ง

ภาพรวมตลาดบิ๊กไบค์ปี 2562 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปี 2561 หรือถ้านับจำนวนคันจะอยู่ที่ 3.5 หมื่นคัน อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากสถานการณ์ตลาดในช่วงไตรมาสแรก กลับพบว่า ไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมียมที่ยอดขายชะลอตัวหลายค่าย จะมีเพียงค่ายอเมริกัน "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ที่สถานการณ์สดใส อันเป็นผลมาจากมีการปรับราคารถหลายรุ่นที่ใช้โรงงานในไทยประกอบแทนการนำเข้า

ล่าสุด ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน เพิ่งทำราคาขายใหม่อีกรอบ ด้วยการปรับลดกว่า 4 แสนบาท เมื่อเทียบกับรุ่นเดิมที่นำเข้า อาทิ ตระกูลทัวร์ริ่ง (Touring) ปี 2018 เริ่มต้น 1,299,000 บาท จากเดิม 1,688,000 บาท (ลดลง 3.89 แสนบาท) และรุ่นโร้ดไกลด์ อัลตร้า ราคาใหม่ 1,699,000 บาท จากเดิม 2,136,000 บาท (ลดลง 4.37 แสนบาท) ไม่เพียงเท่านั้น ยังอัดแคมเปญแรงในรุ่นอัลตร้า ลิมิเต็ด (Ultra Limited) ปี 2018, โร้ด ไกลด์ อัลตร้า (Road Glide™ Ultra) ปี 2018 รวมถึงมอเตอร์ไซค์ตระกูลทัวริ่ง (Touring) ปี 2019 ทุกรุ่น รับดอกเบี้ย 0% ฟรีประกันภัยชั้น 1 ตั้งแต่วันนี้ - 30 เม.ย. 2562

"เราเติบโตต่อเนื่อง หลังจากที่เปิดราคาใหม่ของ "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ที่ผลิตจากโรงงานประเทศไทย โดยบางรุ่นมีแบ็กออร์เดอร์ 6 เดือน แต่บางรุ่นลูกค้ารับรถได้เลยทันที ส่วนฟีดแบ็กของบริษัทแม่ที่มีต่อเราถือว่าดีมาก เพราะการตอบรับทั้งจากตลาดในประเทศและการส่งออกเป็นไปตามแผนที่วางไว้" นายธนบดี กุลทล ผู้จัดการประจำประเทศ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ประเทศไทย กล่าว

 

"ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ประกอบไทยยอดพุ่ง ... สอยแบรนด์ยุโรปร่วง!!

 

นอกจากกลยุทธ์ด้านราคาแล้ว สิ่งที่ "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" พยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น คือ การสร้างแบรนด์ พร้อมทั้งสื่อสารออกไปในวงกว้าง เช่น การนำ "ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน คัสตอม" ในรุ่นแฟตบอย (Fat Boy) ผลงานของ "น้าแอ๊ด-คาราบาว" ไปอวดโฉมในงานมอเตอร์โชว์ 2019 ขณะเดียวกันเน้นสร้างประสบการณ์ในการขับขี่ผ่านกิจกรรมโรดโชว์ 7 จังหวัดหัวเมืองทั่วประเทศ

ด้าน ค่ายผู้นำอย่าง 'ไทรอัมพ์' แม้ยอดจะลดลง แต่ยังมั่นใจว่า สถานการณ์ของตนเองและตลาดพรีเมียมแบรนด์ในปีนี้จะไม่ตํ่ากว่าปีที่ผ่านมา โดยประเมินว่า หลังการเลือกตั้ง เมื่อทุกอย่างลงตัว ชัดเจน ภาคเอกชน หรือ เอสเอ็มอี จะเริ่มรู้ทิศทางการดำเนินงานและวางแผนเพื่อบริหาร หลังจากนั้นจะกลับมาจับจ่ายใช้สอย ส่วนค่ายรถแบรนด์ต่าง ๆ จะมีกลยุทธ์การตลาดออกมา ไม่ว่าจะเป็น เข้าร่วมงานโชว์, อีเวนต์, เปิดตัวรุ่นใหม่, มีแคมเปญ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดไปได้ดี

"ยอดขายในปีที่ผ่านมา ไม่ได้ตามเป้าที่เราวางไว้ 2,500 คัน แต่ปิดตัวเลขจริงที่ 2,484 คัน แต่ในแง่ของส่วนแบ่งการตลาด เราเทียบเท่ากับปีก่อนหน้า คือ 44% ส่วนปีนี้ เราคาดว่าตัวเลขจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเราจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่เป็น "ลิมิเต็ด อิดิชัน" มากขึ้น เพื่อยกระดับ รวมไปถึงการมีโมเดลใหม่ทั้งคันเข้ามาเปิดตัว" นายจักรพงษ์ ศานติรัตน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าว

จากแนวทางที่ไทรอัมพ์ได้วางไว้ ทำให้ในงานมอเตอร์โชว์ได้เห็นรถรุ่นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น "บอนเนวิลล์ ที120 เอซ", "บอนเนวิลล์ที120 ไดมอนด์ อิดิชัน" และอีกรุ่น คือ "Thruxton TFC" รถมอเตอร์ไซค์คัสตอมจากโรงงาน ที่ในประเทศไทยมีเพียง 16 คัน จาก 750 คันทั่วโลกเท่านั้น

เรียกได้ว่าเป็นความพยายามของค่ายผู้นำที่ต้องรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น ในขณะที่ พรีเมียมแบรนด์อีกหนึ่งเจ้าอย่าง 'ดูคาติ' ดูจะเป็นผู้ที่เพลี่ยงพลํ้าในสังเวียนนี้มากที่สุด ถ้าวัดจากยอดขายที่ลดลง ซึ่งแนวทางที่ผู้นำเข้าและผู้แทนจำหน่ายอย่าง "ดูคาติไทยแลนด์" พยายามที่ปลุกกระแสในช่วงที่ผ่านมา คือ การเปิดตัวรถใหม่ ล่าสุด ที่เพิ่งเปิดตัวในงานมอเตอร์โชว์ คือ พานิกาเล่ วีโฟร์อาร์ (Panigale V4 R) ที่มาพร้อมเทคโนโลยีในสนามแข่ง MotoGP เครื่องยนต์ใหม่ขนาด 998 ซีซี ราคา 2.990 ล้านบาท

อีก 2 รุ่นที่เปิดตัวในงาน คือ แดเวล1260 (Daivel 1260) ราคา 8.82 แสน - 1.025 ล้านบาท และมัลติสตราด้า 2019 (Multistrada 950 MY 2019) โดยราคามัลติสตราด้า 950 สีแดง Ducati Red อยู่ที่ 6.57 แสนบาท, ส่วนมัลติสตราด้า 950 S สีแดง Ducati Red อยู่ที่ 7.29 แสนบาท และสีเทา Glossy Grey อยู่ที่ 7.39 แสนบาท นอกจากรถใหม่แล้ว ดูคาติยังอัดแคมเปญพิเศษ อาทิ ผ่อนนานสูงสุด 72 เดือน และฟรีเวาเชอร์ดูคาติมูลค่าสูงสุด 7 หมื่นบาท

ถือว่าไม่มีใครยอมใครสำหรับกลยุทธ์ที่แต่ละค่ายงัดออกมา ซึ่งผลจากแนวรุกที่เปิดหน้าสู้กันในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งได้สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านยอดจองของงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา โดยค่ายที่มาเป็นอันดับ 1 คือ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน 270 คัน, บีเอ็มดับเบิลยู 241 คัน, ไทรอัมพ์ 223 คัน และดูคาติ 94 คัน

ขณะที่ แบรนด์ญี่ปุ่นก็สู้ไม่ถอยเช่นเดียวกัน โดยพี่ใหญ่ฮอนด้านำเข้ารถมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งคัน ในรุ่น Honda CBR250RR เคาะราคา 2.49 แสนบาท และเปิดขายพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. นี้ ทั้งในงานมอเตอร์โชว์และตามร้าน "ฮอนด้า วิง เซ็นเตอร์" โดยการนำเข้ารถรุ่นใหม่ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์รถสปอร์ตที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลกของ Honda CBR และเป็นครั้งแรกที่ร้าน "ฮอนด้า วิง เซ็นเตอร์" จะจำหน่ายรถสปอร์ตนำเข้า

'ซูซูกิ' ที่ผ่านมาเน้นธุรกิจไปยังกลุ่ม "บิ๊กไบค์" และทำยอดขายไม่ขี้เหร่ ล่าสุด ประกาศนำเข้าบิ๊กไบค์จากแดนอาทิตย์อุทัยอีก 3 รุ่น เข้ามาทำตลาดในไทย พร้อมขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการของบิ๊กไบค์เพิ่มเป็น 15 แห่ง จากเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้เกือบ 2,000 คันในปีนี้

"บิ๊กไบค์ของเราโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นรถที่นำเข้าทั้งคัน โดยผลการดำเนินงานในปี 2561 เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2560 และในปี 2562 เราตั้งเป้าหมายที่จะเติบโตเท่าเดิม เพราะจะมีรถรุ่นใหม่เข้ามาอีก 3 รุ่น เริ่มตั้งแต่ในงานมอเตอร์โชว์ ที่เปิดคาตานะ หลังจากนั้นจะเปิดเบิร์กแมน 400 และรุ่นเล็กอีก 1 รุ่น" นายเลิศศักดิ์ นววิมาน กรรมการบริหาร บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด กล่าว



หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,460 วันที่ 11-13 เมษายน 2562
 

"ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน" ประกอบไทยยอดพุ่ง ... สอยแบรนด์ยุโรปร่วง!!