ดัชนีเชื่อมั่น SME ภาคการค้าและบริการ ก.พ. ต่ำกว่าค่าฐานในรอบ 3 เดือน

09 เม.ย. 2562 | 03:25 น.


สสว. เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคการค้าและบริการ เดือน ก.พ. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 99.6 ชี้! ต่ำกว่าค่าฐานที่ระดับ 100 ในรอบ 3 เดือน จากปัจจัยหลักด้านยอดจำหน่าย ต้นทุน และกำไรเป็นหลัก

รายงานข่าวจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (TSSI) ประจำเดือน ก.พ. 2562 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME ทั่วประเทศ จำนวน 1,400 ตัวอย่าง โดยพบว่า ดัชนี TSSI ประจำเดือน ก.พ. 2562 อยู่ที่ระดับ 99.6 ปรับตัวลดลงจากเดือน ม.ค. 2562 ที่อยู่ระดับ 104.0 ซึ่งต่ำกว่าค่าฐานที่ระดับ 100 ในรอบ 3 เดือน แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับซบเซาลง

ทั้งนี้ ดัชนี TSSI เดือน ก.พ. 2562 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากองค์ประกอบด้านยอดจำหน่าย ต้นทุน และกำไรเป็นหลัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สถานการณ์ทางการค้าอยู่ในระดับทรงตัว มียอดขายและกำไรน้อยกว่าในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับแผนการขาย ซึ่งการใช้โปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเพิ่มขึ้น หรือ เพื่อให้น่าสนใจมากกว่าคู่แข่ง จึงทำให้กำไรลดลง อีกทั้งลูกค้ามีการใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้เงินหมุนเวียนในกิจการลดลงด้วย ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากผ่านพ้นช่วงปีใหม่มา จากที่ผู้บริโภคมีการเร่งใช้จ่ายไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.พ. ยังคงมีเทศกาลตรุษจีนและวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากกว่าปกติ ถึงจะไม่มากเท่าช่วงปีใหม่ก็ตาม ในส่วนของสถานการณ์ทั่วไปของประเทศ ปัจจัยที่ยังคงบั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง คือ ค่าครองชีพที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง


สำหรับดัชนี TSSI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าฐานที่ 100 และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สถานการณ์ด้านการค้าและบริการใกล้เคียงกับเดือนนี้ เนื่องจากในช่วงเดือน พ.ค. เป็นช่วงก่อนเปิดภาคเรียน ผู้บริโภคมีภาระค่าใช้จ่ายของบุตรหลานมักใช้จ่ายลดลงในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดี ผู้ประกอบการคาดหวังว่า เศรษฐกิจจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้อีกครั้ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการของ SME จำแนกตามสาขาธุรกิจ โดยสาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี คือ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีค่าเกินค่าฐานที่ 100 ได้แก่ สาขาค้าปลีกรถจักรยานยนต์/รถยนต์ บริการการก่อสร้าง และการขนส่งสินค้า สาขาธุรกิจที่มีความเชื่อมั่นลดลง แต่ยังคงมีค่าดัชนีอยู่เกินฐานที่ 100 ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ/ความงาม การท่องเที่ยว โรงแรม/เกาสต์เฮาส์/บังกะโล และร้านอาหาร/ภัตตาคาร

รายข่าวจาก สสว. ระบุอีกว่า ผู้ประกอบการ SME ในทุกภาคธุรกิจ ยังคงมีความกังวลด้านต้นทุนในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของทุกสาขาธุรกิจในเดือน ก.พ. 2562 ค่าดัชนียังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐาน 100 ค่อนข้างมาก โดยอยู่ที่ระดับ 75.0 – 90.8 และในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนจะอยู่ที่ระดับ 80.6 – 95.8 ซึ่งแสดงถึงผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลด้านต้นทุน ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนจากการขยายกิจการ ต้นทุนในการดำเนินงาน รวมทั้งต้นทุนราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มการปรับตัวที่สูงขึ้น

 

ดัชนีเชื่อมั่น SME ภาคการค้าและบริการ ก.พ. ต่ำกว่าค่าฐานในรอบ 3 เดือน

 

ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ภาคการค้าและบริการ จำนวน 1,400 วิสาหกิจทั่วประเทศ ได้ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ดังต่อไปนี้

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีการใช้จ่ายสูงขึ้น สำหรับผู้มีรายได้ระดับกลางถึงบน ผ่านมาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ ฟื้นฟูภาคการค้า การส่งออก การแก้ไขปัญหาความยากจน กระจายการค้าการลงทุนสู่ภูมิภาค ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้ของผู้บริโภคระดับกลางถึงล่าง การจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองให้ประชาชนและนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้าน ต้นทุน ต้องการให้ภาครัฐดูแลราคาสาธารณูปโภคให้มีความเหมาะสมกับต้นทุนของผู้ประกอบการ ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ควรมีมาตรการลดหย่อนภาษีช่วยเหลือ ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ต้องการให้ภาครัฐมีโครงการเงินกู้ให้ประชาชน พร้อมทั้งลดข้อกำหนดเพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น มีแนวทางที่จะสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจ พร้อมทั้งขยายช่องทางในการกู้ยืม/ลดดอกเบี้ยเงินกู้ ควรยกเลิกภาษีซ้ำซ้อนที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ควบคุมด้านราคาเชื้อเพลิง การลดภาษีการนำเข้า และเน้นส่งเสริมการส่งออกมากขึ้น การลดดอกเบี้ย/ภาษี สำหรับรถยนต์ออกใหม่ การปรับค่าจ้างแรงงาน การปรับโครงสร้างหนี้/แก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน