10 ที่สุดเลือกตั้ง 62 "ป้องกันทุจริตมากสุด-ขั้นตอนซับซ้อนสุด-คำนวณปาร์ตี้ลิสต์สลับซับซ้อนที่สุด"

08 เม.ย. 2562 | 05:54 น.


"รองเลขาฯ กกต." เผย 10 ที่สุดแห่งเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 "ระบบป้องกันทุจริตมากที่สุดในโลก-ผู้มีส่วนร่วมมากที่สุด-ขั้นตอนเลือกตั้งที่สลับซับซ้อนที่สุด-เรื่องร้องเรียนน้อยสุด-เวลาลงคะแนนมากที่สุด-ขั้นตอนประกาศผลมากที่สุด-คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สลับซับซ้อนที่สุด-กล่าวหา กกต. โดยไม่มีข้อเท็จจริงมากที่สุด"

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "24 มี.ค. 62 ที่สุดแห่งการเลือกตั้ง : กกต. จัดการเลือกตั้งไม่โปร่งใสจริงหรือ" โดยระบุว่า

1.ระบบที่ป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งที่ดีที่สุด ตั้งแต่กระบวนการพิมพ์บัตร ขนหีบบัตร การจ่ายบัตร การเก็บรักษาบัตร การลงคะแนน การนับคะแนน มีขั้นตอนที่รัดกุม ปิดโอกาสที่จะทำให้มีการทุจริตในการเลือกตั้ง ที่เป็นเช่นนี้ เพราะบริบทการเมืองไทยมีการแข่งขันกันสูงมาก ผู้แข่งขันมุ่งผลแพ้-ชนะเป็นสำคัญ จึงต้องมีกลไกป้องกันกระบวนการเลือกตั้งและผู้เป็นกรรมการไว้ อาจกล่าวได้ว่า ระบบการเลือกตั้งของประเทศไทยมีความปลอดภัยมากที่สุดในโลกเท่าที่เปรียบเทียบกับประเทศอื่น

2.มีผู้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งมากที่สุด มีกรรมการประจำเขตเลือกตั้งทุก 350 เขต มีกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ทุกหน่วยเลือกตั้ง 92,300 กว่าหน่วย มีลูกเสืออาสา กกต. ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของผู้สมัคร หรือ พรรคการเมืองทุกหน่วยเลือกตั้ง มีผู้สื่อข่าว องค์กรตรวจสอบการเลือกตั้ง ทั้งจากในและนอกประเทศอยู่ทั่วไป รวมกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่รอคิวในการออกเสียงลงคะแนนและเฝ้าสังเกตการณ์การนับคะแนนเป็นจำนวนมาก

3.มีขั้นตอนในการเลือกตั้งที่สลับซ้อนที่สุด ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 350 แบบ พรรคเดียวกันในจังหวัดเดียวกันเบอร์ต่างกัน ต้องจ่ายบัตรเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนนล่วงหน้าให้ถูกเขต โดยในแต่หน่วยอาจต้องจ่ายบัตรให้ผู้มีสิทธิทั้ง 350 เขต 350 แบบ ถ้ามีการลงทะเบียนครบทุกเขตในหน่วยนั้น

 


4.ให้เวลาลงคะแนนมากที่สุด โดยให้เวลาลงคะแนนเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง จากที่เคยปิดหีบในการเลือกตั้งครั้งก่อนเวลา 15.00 น. เป็นปิดหีบ 17.00 น. โดย กปน. ทั้ง 5 คน ต้องทำงานตั้งแต่รับบัตรและอุปกรณ์ในการลงคะแนน เปิดหน่วยลงคะแนน ปิดหีบบัตร ตรวจสอบจำนวนบัตรให้ถูกต้องตรงกัน เริ่มนับคะแนน ปิดผลการนับ คะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง รายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ส่งอุปกรณ์ รวมเวลาทำงาน จากรับบัตร จนถึงส่งอุปกรณ์ จากเวลา 05.00 ถึงเวลา 23.00 น. ต้องทำงานติดต่อกันประมาณ 15-18 ชั่วโมง

4.มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ มีจำนวนกว่า 51 ล้านคน มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

5.มีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ทั้งในการเลือกตั้งล่วงหน้าและในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่าร้อยละ 79 มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา นับแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540

6.มีผู้สมัครและพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากที่สุด มีพรรคส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 81 พรรคการเมือง ผู้สมัครกว่า 12,000 คน จากเดิมที่เคยส่งผู้สมัคร 2,000-3,000 คน มีพรรคการเมืองส่งแค่ 20-30 พรรคการเมือง และด้วยความสลับซับซ้อนของกฎหมายทำให้เกิดงานธุรการเพิ่มขึ้น เช่น การพิมพ์บัตร 350 เขต 350 แบบ หนังสือถึงเจ้าบ้าน เป็นต้น

 


7.มีขั้นตอนการประกาศผลที่มากที่สุด หลังเลือกตั้งเสร็จ กกต. ยังไม่อาจประกาศผลได้ทันที แม้จะประกาศผลคะแนนไปแล้วก็ตาม การประกาศผลต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดไว้

8.มีการคำนวณการจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่สลับซับซ้อนที่สุด ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้กำหนด วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับต่างจากกฎหมายฉบับก่อน ๆ เป็นอย่างมาก

9.มีจำนวนเรื่องร้องเรียนการทุจริตการเลือกตั้งน้อยที่สุด ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ผ่านมาหลังทราบผลคะแนนจะมีเรื่องร้องคัดค้านเป็นหลักพัน หรือ หลายพันเรื่อง แต่ครั้งนี้มีเรื่องร้องคัดค้านแค่หลักร้อยเท่านั้น ทั้งที่มีการแข่งขันสูงและมีผู้สมัครและพรรคการเมืองลงสมัครเป็นจำนวนมาก

และ 10.มีการกล่าวหา กกต. โดยไม่มีข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยมีการตั้งข้อสงสัย พยายามกล่าวหา กกต. ว่า จัดการเลือกตั้งไม่โปรงใส โดยมีความพยายามทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง แต่ข้อสงสัยและข้อกล่าวหาดังกล่าว กกต. ก็สามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ทุกเรื่อง ส่วนมากการกล่าวหาก็ไม่ปรากฏนามผู้กล่าวหาว่าเป็นผู้ใด เป็นการกล่าวหาในโซเชียล ทั้งนี้ ถ้ามีหลักฐานอยู่บ้างตามที่กล่าวหานั้น กกต. คงอยู่ไม่ได้แล้ว กรณีมีหลักฐานว่า การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ก็ชอบที่จะยื่นเรื่องให้ กกต. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จะได้ร่วมมือกันในการทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่ไม่ใช่นำข้อสงสัยดังกล่าวมากล่าวหา กกต. เอง ทั้งที่ปราศจากมูลความจริง