สัญญา‘ไฮสปีดเทรน’ ยึดผลประโยชน์ชาติ-ป้องค่าโง่

06 เม.ย. 2562 | 13:56 น.

มาคุยกับฐาน ทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกเลย!!!!! LINE : @THANSETTAKIJ 
สัญญา‘ไฮสปีดเทรน’  ยึดผลประโยชน์ชาติ-ป้องค่าโง่

เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นสำหรับการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นประธาน แถลงผลความคืบหน้าการเจรจากับกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง หรือ ซีพี และพันธมิตรผู้เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำที่สุด 117,227 ล้านบาท ตํ่ากว่าที่คณะรัฐมนตรีตั้งวงเงินไว้ 119,425 ล้านบาท ระบุผลการเจรจามีคืบหน้า 80% โดยซีพีและพันธมิตรพร้อมที่จะยกเลิกข้อเสนอที่ขัดต่อเอกสารเสนอโครงการ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่เป็นขวากหนามทั้งหมด

ประกอบด้วย 1.ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี 2.ขอประกันผลตอบแทนทางการเงินIRR 6.75% ต่อปี 3.รัฐบาลต้องจ่ายเงินอุดหนุนในปีที่ 1 จากเดิมที่ต้องจ่ายในวันที่เปิดดำเนินการ 4.ขอลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่โครงการลงมาเหลือ 5% เพราะอาจนำโครงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5.ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานกู้เงินกลุ่มซีพี

6.ขอให้รัฐบาลคํ้าประกัน รฟท.ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง 7.ผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้ 8.รัฐบาลต้องสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า 9.ขอชำระเงินค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา เมื่อวันที่ถึงจุดที่มีผลตอบแทน 10.ถ้าหากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายด้วย 11.การห้าม รฟท.ทำธุรกิจหรือเดินรถแข่งขันกับเอกชน

การเจรจาต่อรองระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกฯกับกลุ่มซีพี ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาถูกจับตามองจากหลายฝ่าย ท่ามกลางความกังวลว่ารัฐจะเสียประโยชน์ให้เอกชน หลังพบว่ากลุ่มซีพี ยื่นข้อเสนอพิเศษเข้ามาในช่วงเจรจาซอง 4 แม้ว่าตอนนี้กลุ่มซีพีได้ยกเลิกข้อเสนอพิเศษทั้งหมดแล้ว แต่ยังเหลือประเด็นสำคัญที่ รฟท.ต้องเจรจาร่วมกับกลุ่มซีพีเพิ่มเติม โดยเฉพาะรายละเอียดร่างสัญญา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเจรจาค่าปรับกรณีทำผิดสัญญาและผลกระทบต่อภาครัฐ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญไม่แพ้การเจรจา โดยเฉพาะการยกร่างสัญญาที่รฟท.จะใช้ลงนามร่วมกับเอกชน ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ เพื่อป้องกันและปิดช่องไม่ให้เอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐตามมาในอนาคต

 


|บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3459 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-10 เม.ย.2562