ธปท. เชื่อมชำระเงินอาเซียน ต่อยอด "อี-เพย์เมนต์"

08 เม.ย. 2562 | 00:00 น.


ธปท. จับมือแบงก์กลางอาเซียน ดันชำระเงินมาตรฐานกลางเชื่อมอาเซียน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว แรงงานต่างด้าว เอสเอ็มอีนำบล็อกเชน ทำเทรดไฟแนนซ์เพิ่มผลิตภาพการค้าต้นทุนตํ่า หนุนใช้สกุลเงินท้องถิ่นข้ามพรมแดน

วาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562 ไปจนถึงสิ้นปี ภายใต้แนวคิดหลัก คือ "Advancing Partnership for Sustainability" หรือ "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ซึ่งตลอดทั้งปี ไทยจะต้องจัดการประชุมอาเซียนในหลายระดับมากกว่า 200 การประชุม ซึ่งการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย. นี้ ที่เชียงราย

 

ธปท. เชื่อมชำระเงินอาเซียน ต่อยอด "อี-เพย์เมนต์"

 

โดยเฉพาะภายใต้ภูมิทัศน์การเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล (Global Financial Landscape amidst Digital Transformation) จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงไทยเท่านั้นที่กำลังก้าวไปอยู่สังคมไร้เงินสด แต่ยังรวมทุกประเทศทั่วโลกด้วย ซึ่งในการประชุมรอบนี้ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางของอาเซียน พร้อมทั้งการแสดงนวัตกรรมทางด้านการชำระเงินที่จะช่วยเชื่อมโยงความร่วมมือในภูมิภาค

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าที่เกิดผลในทางปฏิบัติจริง ๆ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ ประกาศใช้เทคโนโลยี QR Code EMV Standard ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป้าหมาย คือ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability) ทั้งอาเซียน

 

ธปท. เชื่อมชำระเงินอาเซียน ต่อยอด "อี-เพย์เมนต์"

 

"ความร่วมมือในอาเซียนมีหลายรูปแบบ เช่น เรื่อง Payment Transfer ซึ่งจะตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ ไม่ว่านักท่องเที่ยว แรงงานต่างด้าว และธุรกิจเอสเอ็มอี และเรื่องการนำบล็อกเชนเทคโนโลยีมาทำเทรดไฟแนนซ์ ซึ่งจะเพิ่มผลิตภาพระบบการเงินให้หมุนรอบและได้รับเงินเร็ว ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีต้นทุนที่ถูกลงมาก ที่สำคัญอีกเรื่อง คือ ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นข้ามประเทศให้ถูกลง และลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และค่าธรรมเนียมโอนที่แพงมาก"

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผ่อนคลายการประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ โดยลดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประกอบการ จากเดิมที่คนไทยต้องมีสัดส่วนถือหุ้น 75% เหลือ 25% เพื่อเพิ่มการแข่งขันให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ๆ สามารถเข้ามาให้บริการได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันและพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ

ด้าน นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ​ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท. และธนาคารกลางอาเซียนร่วมกับ 7 ประเทศ ในการเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาระบบชำระเงิน โดยได้มีการลงนามความร่วมมือบริการชำระเงินไปแล้วในประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว และสิงคโปร์

นอกจากนั้น ความร่วมมือบริการทางการเงินในระดับภาคเอกชน เช่น ธนาคารพาณิชย์ ผู้ให้บริการชำระเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร ได้แสดงความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาบริการทางการเงินและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในประเทศอาเซียน ซึ่งทำการค้าการลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดการจับจ่ายใช้สอยระหว่างกันจำนวนมาก

"ความร่วมมือของภาคเอกชนในการพัฒนาระบบการชำระเงิน ซึ่งมีความหลากหลายในการนำเทคโนโลยีแตกต่างกันมาใช้ ทั้งเรื่องบล็อกเชน QR Code หรือ Application Programming Interface (API) เพื่อใช้ในการโอนและชำระเงินระหว่างกัน"

นางอลิศรา มหาสันทนะ ​ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. (ผู้ทรงคุณวุฒิ) กล่าวว่า การส่งเสริมให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในระยะต่อไป จะขยายกรอบการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง (FDI) ด้วย จากปัจจุบันใช้เพื่อการค้าเป็นหลักและได้ลงนามเพิ่มกับธนาคารกลางฟิลิปปินส์ จากที่ดำเนินการแล้ว ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา จีน และญี่ปุ่น ซึ่งปีนี้ที่ประชุมจะผลักดันเพิ่ม 2 เรื่อง คือ การสร้างกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งภัยคุกคาม แนวปฏิบัติที่ดีที่จะส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และพัฒนาศักยภาพ ในการดูแลทั้งผู้กำกับและธนาคาร เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือ ให้บริการด้านการเงินในอาเซียนด้วย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนมีความคืบหน้าเรื่องกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน (AIF) โดยรัฐบาลในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนารายใหญ่ ได้เปิดตัวกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน ซึ่งเป็นกองทุนริเริ่มใหม่เพื่อระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,459 วันที่ 7-10 เมษายน 2562
 

ธปท. เชื่อมชำระเงินอาเซียน ต่อยอด "อี-เพย์เมนต์"