เปิดศึกจัดระเบียบท่อร้อยสาย "กทม. VS ผู้ประกอบการโทรคมนาคม"

05 เม.ย. 2562 | 10:12 น.


หลังจาก "กรุงเทพมหานคร" ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แถลงข่าวเพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทลูกของ กทม. เป็นผู้บริหารจัดการ

ล่าสุด ในวันที่ 5 เม.ย. 2562 สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม จำนวน 10 ราย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นสักขีพยาน

 

เปิดศึกจัดระเบียบท่อร้อยสาย "กทม. VS ผู้ประกอบการโทรคมนาคม"

 

ขอดูแลกันเอง

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การเซ็น MOU ร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อส่งข้อความไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีความประสงค์ดูแลบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม การนำเอาสายไฟเบอร์ออฟติคลงดิน ภาคเอกชนกับหน่วยงานรัฐต้องหาแนวทางร่วมกัน หรือไม่ก็ว่าจ้างนักวิชาการมาศึกษา

"ราคาสายไฟเบอร์ที่จะนำลงใต้ดินจากการศึกษาร่วมกันของผู้ประกอบการอยู่ที่ 4,000 บาทต่อกิโลเมตร ถ้ารัฐไม่แน่ใจ ก็จ้างนักวิชาการมาศึกษาได้"



⁍ 'ทีโอที' คิดราคาพิเศษ 9,600 บาท

สำหรับการนำสายไฟเบอร์ลงดิน บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีท่อร้อยสายอยู่แล้ว คิดราคากิโลเมตรละ 20,000 บาท แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เจรจาต่อรองขอปรับลดราคาลงมาพิเศษเหลือกิโลเมตรละ 9,650 บาท ได้จัดระเบียบนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 100 กิโลเมตร ในถนนราชดำเนินและถนนสุขุมวิท เป็นต้น

"ต้องการให้กรุงเทพมหานครเกิดความสวยงาม แต่ต่อไปหากมีนโยบายจัดระเบียบทั่วประเทศ เอกชนต้องแบกต้นทุนเพิ่มจากนำสายที่พาดอยู่บนเสาไฟลงดินเพิ่มภาระก็จะตกกลับไปอยู่ที่ผู้บริโภค"

 

เปิดศึกจัดระเบียบท่อร้อยสาย "กทม. VS ผู้ประกอบการโทรคมนาคม"

 

⁍ กทม. กินรวบ

สายไฟเบอร์ออฟติค รวมไปถึงสายไฟฟ้า ติดตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด 20,000 กิโลเมตร ซึ่ง กทม. ให้บริษัทลูก คือ กรุงเทพธนาคม เป็นผู้บริหารจัดการ แม้ในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดราคาอย่างเป็นทางการ

หากแต่ประเด็นสำคัญ ก็คือ กทม. จะให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม สร้างท่อเพียงรายเดียว ส่งผลให้ทีโอทีไม่สามารถสร้างท่อเพิ่มเติมได้ และอาจจะคิดราคาสูงกว่าทีโอทีที่จัดเก็บอยู่ในขณะนี้



⁍ จ่อตั้งบริษัทท่อร้อยสาย

ขณะที่ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และในฐานะนายก TCT กล่าวว่า การเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้ ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันแก้ไขการวางสายเคเบิลให้เป็นระเบียบ ส่วนในอนาคต อาจจะมีความเป็นไปได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ท่อร้อยสาย จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการร่วมกันเพื่อเกิดความคล่องตัว

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดีอีสนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพราะมีกองทุนช่วยสนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน