"ผบ.ทบ." รับโดนมาแยะ ลั่น! ไม่ใช่นักการเมือง ถอดถอนไม่ได้

04 เม.ย. 2562 | 09:07 น.


ทีมโฆษก ทบ. ระบุ ล่าชื่อถอด "ผบ.ทบ." แค่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ สร้างกระแสทำแตกแยก ด้าน 'อภิรัชต์' รับโดนมาเยอะแล้ว ชี้! ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้

 

"ผบ.ทบ." รับโดนมาแยะ ลั่น! ไม่ใช่นักการเมือง ถอดถอนไม่ได้

 

วันนี้ (4 เม.ย. 62) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ถึงกรณีการล่ารายชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org ถอดถอน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งทางโซเชียลมีเดียที่แสดงออกถึงความไม่พอใจ หรือ บางคนอาจจะเรียกว่าเป็นความขัดแย้งก็ได้ สังคมต้องพิจารณา เพราะปกติแล้วเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นประเด็นใดขึ้นมา จะพูดคุยกันด้วยเนื้อหาสาระเป็นหลัก ไม่ใช่ไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างเดียว คิดว่าสังคมคงเข้าใจ

 

"ผบ.ทบ." รับโดนมาแยะ ลั่น! ไม่ใช่นักการเมือง ถอดถอนไม่ได้

 

เมื่อถามว่า การล่ารายชื่อถอดถอน ผบ.ทบ. ในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในแง่ของความรู้สึกเช่นเดียวกับการล่ารายชื่อถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะเกิดข้อกังวลสงสัย ไม่มั่นใจสิ่งใด หรือ เรื่องที่คิดว่าไม่ดีต่อส่วนรวม ทั้งนี้ ประเทศมีช่องทางดำเนินการอยู่แล้ว หากคิดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ มีการทุจริต ก็ยื่นร้องเรียนตามกลไก จากนั้นเป็นขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานและไปพิสูจน์หากมีมูล ก็ลงโทษทางคดีอาญา ซึ่งเป็นช่องทางที่จับต้องได้จริง

เมื่อถามว่า ฝ่ายกฎหมายติดตามเว็บไซต์มีการล่ารายชื่อถอดถอนผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ยังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ ถ้าการพาดพิง หมิ่นประมาท ไม่ว่าบุคคลหรือองค์กร ที่มีพยานหลักฐานก็เข้าสู่กระบวนการ ยืนยันว่า การนำเรื่องต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการเป็นสากลจะตอบโจทย์สังคมได้ดีกว่า และผู้ถูกกล่าวหาสามารถใช้ช่องทางนี้ยืนยันความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักสากลอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ทหารรู้สึกอย่างไรบ้าง พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เราให้ความสำคัญเรื่องเป็นข้อเท็จจริง แต่การใช้โซเชียลมีเดียโฆษณาชวนเชื่อ เนื้อหาไม่สามารถพิสูจน์ได้ ยืนยัน กองทัพให้ความสำคัญ 2 กรณี คือ หากถูกพาดพิง ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชา กำลังพล องค์กร จะต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เรายึดหลักหนักแน่นกับข้อเท็จจริงและข้อพิสูจน์ที่พิสูจน์ได้ และใช้ช่องทางกระบวนการตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้น กองทัพหวั่นไหวหรือไม่ที่มีการล่ารายชื่อถอดถอน ผบ.ทบ. พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ไม่ได้เหนือในสิ่งที่ได้ประเมินไว้ ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2557 เราผ่านเรื่องราวในลักษณะเช่นนี้ บางกลุ่มยังมีพฤติกรรมไม่ต่างอดีตจนถึงปัจจุบัน สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจขอความร่วมมือ

เมื่อถามว่า ประเมินหรือไม่ เพราะเหตุใด มีการล่ารายชื่อ หลังจาก ผบ.ทบ. แสดงจุดยืนลดความขัดแย้ง พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สิ่งที่ ผบ.ทบ. แถลงนั้น เป็นการบอกกล่าวกับสังคมว่า ทหารไม่ได้ทำงานการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านยืนยันในฐานะที่เป็นผู้นำหน่วย หากมีจิตใจเป็นธรรมจะมองเห็น และท่านยังระบุอีกว่า ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทย และยอมรับว่า โซเชียลมีเดียมีพลังในสังคมปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผบ.ทบ. ยังอยากให้ลดการใช้วาทกรรม ตนคิดว่า ทางสังคมเองก็เห็นด้วยกับตรงนี้อยู่แล้ว ส่วนที่ ผบ.ทบ. ได้ระบุใช้ช่องทางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวและเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาต่าง ๆ ถือเป็นช่องทางสากล สำหรับเรื่องการศึกษาและระบอบประชาธิปไตยนั้น ผบ.ทบ. ชี้ให้เห็นว่า ในแต่ละประเทศมีบริบทและประชาธิปไตยที่หลากหลาย

พ.อ.วินธัย ยังกล่าวถึง กรณี ผบ.ทบ. ออกมาระบุกลุ่มคนมีความคิดซ้ายจัดนั้น อย่าไปเจาะจง แต่ให้ดูที่เจตนารมณ์ การใช้สำนวนแต่ความมุ่งหมายจะมีอยู่ในตัวตน อยากให้มองในตรงจุดนั้นมากกว่า

 

"ผบ.ทบ." รับโดนมาแยะ ลั่น! ไม่ใช่นักการเมือง ถอดถอนไม่ได้

 

ขณะ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวเสริมว่า กิจกรรมขอชื่อ ขอเสียง ขอโหวต ในบ้านเรามีการใช้โซเชียลมีเดียในการดำเนินกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว สิ่งหนึ่งเป็นประเด็นที่เกิดตามธรรมชาติ และเป็นเรื่องของการ Set up หรือ การสร้างกระแส เมื่อมีประเด็นของข้อมูล ซึ่งการตั้งหัวข้อที่เป็นการชี้นำ ไม่ใช้สื่อโซเชียลเพื่อขอความคิดเห็น ซึ่งการตั้งหัวข้อระบุเลยว่า ถอดถอน เอาหรือไม่เอา จะทำให้เกิดความคิดเห็นที่แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเห็นด้วย ส่วนหนึ่งคัดค้าน สุดท้ายทั้ง 2 ส่วน จะมาแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย ถามว่าได้อะไรขึ้นมา

"สิ่งที่จะได้ คือ ความคิดเห็นที่แตกแยก ได้ใช้วาทกรรม การใช้ความรุนแรง การใช้ความคิดเห็นของตัวเองไปประกอบกับความคิดเห็นอันนั้นจึงทำให้เกิดการแบ่งฝ่าย ความแตกแยกเกิดขึ้น ลักษณะแบบนี้ไม่สร้างสรรค์ ไม่ได้ทำให้สังคมมีการใช้เหตุและผล บางส่วนเป็นการปลุกกระแสที่คาดหวังว่าให้เป็นอย่างโน้น อย่างนั้น ไม่ใช่วิธีที่คนไทยควรจะเป็น แต่เป็นวิธีที่ถูกสร้างขึ้นและไม่ได้ส่งผลอันดีอันใดต่อประเทศไทย และความสงบเรียบร้อย มีแต่จะทำให้คนแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลักษณะแบบนี้ สื่อก็คงไม่สบายใจที่ได้เห็นการร่วมลงรายชื่อสนับสนุนหรือไม่ สนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะ" พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวและว่า

หากเป็นการตั้งหัวข้อล่ารายชื่อเพื่อลดโลกร้อนยังจะสร้างสรรค์มากกว่าและมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ในโซเชียลมีเดียควรจะใช้วิธีเช่นนั้น แต่ถ้า Set up หรือ ปลุกกระแส เรื่องนี้ขึ้นก็ต้องมีคนเห็นต่างในเรื่องดังกล่าวก็จะเกิดการกระทบกันทั้ง 2 ส่วน อยากจะฝากด้วยว่าอะไรที่เป็นการตั้งหัวข้อ และไม่เกิดผลประโยชน์สาธารณะ คนที่ตั้งต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตั้งขึ้นมาด้วย และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้กระบวนการเหล่านี้ ตั้งคนหรือลดคนออกจากระบบ เพราะทุกอย่างมีระบบของตัวเองอยู่แล้ว ว่า ใครที่จะดำรงตำแหน่งตรงนี้ หรือ ใครที่จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง มีระบบกลไกอยู่ ให้ไปดูตรงนั้นมากกว่า

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ ย้ำว่า อยากให้ใช้สติอยากฝากถึงประชาชนที่เข้าไปไปดู หรือ อาจไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ขอให้ถอยออกมาและดูประเด็นให้ดี ว่า เป็นกระแสจริง ๆ หรือเป็นกระแสที่ถูกจัดตั้งในช่วงของความหลากหลายข้อมูลข่าวสาร ถ้าเรามีสติและคิดว่า ไม่ได้เป็นประเด็นสาธารณะจริง ๆ ก็ถอยออกมา เรายังสามารถใช้สื่อโซเชียลมีเดียในเรื่องอื่น ๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีของประเทศผลงานและการให้กำลังใจก็เป็นการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และจะทำให้ความวุ่นวายต่าง ๆ ที่จะเกิดในประเทศในลักษณะแบบนี้หรือในห้วงเวลาอันสำคัญนี้ ลดน้อยถอยลงหรือไม่มีเลยน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์ ได้ระบุในที่ประชุมถึงกรณีดังกล่าวว่า "ขอให้ปล่อยไปเถอะ เพราะผมโดนมาเยอะแล้ว และผมก็ไม่ใช่นักการเมือง และในทางกฎหมาย ผมก็ไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะถอดถอนได้"
 

"ผบ.ทบ." รับโดนมาแยะ ลั่น! ไม่ใช่นักการเมือง ถอดถอนไม่ได้